เมื่อชาวญี่ปุ่นถูกสอบถามว่า อะไรเป็นประดิษฐกรรมที่ชาวญี่ปุ่นภาคภูมิใจมากที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่
20 คำตอบ ที่ได้รับก็คือ บะหมี่สำเร็จรูป (Instant Noodles) ทั้งนี้ตาม การสำรวจของสำนักวิจัย
Fuji Research Institute (BBC News, December 12, 2000)
บะหมี่สำเร็จรูปปรากฏสู่ตลาดญี่ปุ่นในปี 2501 เริ่มต้นด้วย บะหมี่รสไก่หรือ
Chikin Ramen (=Chicken Ramen) ในระยะแรกไม่ติดตลาด ชาวญี่ปุ่นถือว่า บะหมี่สำเร็จรูปเป็นอาหาร
"เลิศหรู" เนื่องจากราคาแพงกว่าบะหมี่สดหรือ Udon ถึง 5-6 เท่า
ซึ่งชนชั้นล่างมิอาจบริโภคได้ แต่เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึงปี บะหมี่สำเร็จรูปก็สามารถยึดครองพื้นที่ในร้านขายของชำมาก
ขึ้นๆ ในประการสำคัญ ผู้ผลิตหน้าใหม่ก้าวเข้าไปแข่งขันในตลาดมากกว่า 10 ราย
ในเวลาไม่ช้าไม่นาน บะหมี่ สำเร็จรูปถีบตัวขึ้นมาเป็นอาหารระดับชาติ และในช่วงเวลาเกือบสองทศวรรษต่อมา
ก็มีฐานะเป็นอาหารระดับโลก (Global Food)
การที่บะหมี่สำเร็จรูปสามารถสร้างกระแสโลกา นุวัตร จนกลายเป็นอาหารระดับโลกนั้น
ไม่เพียงแต่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ผลิตเท่านั้น หากยังมีผลในการแผ่ขยายอิทธิพลของวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกด้วย
อาจเป็นด้วยเหตุดังนี้กระมังที่ชาวญี่ปุ่นยกย่องบะหมี่สำเร็จรูปเป็นประดิษฐกรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งคริสต์ศตวรรษที่
20 อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า ประดิษฐกรรมที่ชาวญี่ปุ่นยกย่องตามการสำรวจของ
Fuji Research Institute นั้น ล้วนแล้วแต่เป็น "สินค้าวัฒนธรรม"
(Cultural Product) ทั้งสิ้น (ดูตารางที่ 1) รองจากบะหมี่สำเร็จรูป ได้แก่
Karaoke อันเป็นประดิษฐกรรมที่เปิดโอกาสให้ชนทุกชาติคลายเครียด ด้วยการมีประพฤติกรรมประดุจนักร้องระดับชาติหรือระดับโลก
ตามมาด้วย Walkman Personal Stereo ของ Sony ซึ่งอำนวยความสะดวกในการฟังเพลงหรือข่าวได้ทุกเวลาและสถานที่
โดยมิต้องทำให้ผู้อื่นรบกวนใจ อันดับต่อจากนั้น ได้แก่ Home Computer Consoles,
Compact Discs, Compact Cameras ภาพยนตร์ของ Akira Kurosawa และการ์ตูน Pokemon
ประดิษฐกรรมเหล่านี้ล้วนมีผลในการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตของผู้คน และเกื้อกูลการขยายตัวของกระบวนการสากลานุวัตรของวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ในเมื่อบะหมี่สำเร็จรูปได้รับการยกย่องจากชาวญี่ปุ่นว่าเป็นประดิษฐกรรมอันเยี่ยมยอดแห่งคริสต์ศตวรรษที่
20 เหนือ กว่าสินค้าวัฒนธรรมใดๆ โมโมฟุกุ อันโดะ (Momofuku Ando) ผู้ได้รับสมญานามว่า
"บิดาแห่งบะหมี่สำเร็จ รูป" ก็ควรแก่การได้รับการยกย่องในระนาบเดียว
กัน เพราะอันโดะเป็น "วีรชนเอกชน" ในการประดิษฐ์บะหมี่สำเร็จรูป
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาการขาดแคลนอาหารระดับหนึ่ง
อันโดะครุ่นคิด ถึงการผลิตอาหารสำหรับมวลชน ชาวญี่ปุ่น ครอบครัวของอันโดะประกอบธุรกิจการปล่อยเงินให้กู้
แต่ ธุรกิจนี้มิอาจดำเนินต่อไปได้ เนื่องจาก ชาวญี่ปุ่นล้วนมีปัญหาเศรษฐกิจเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง
ในปี 2491 อันโดะก่อตั้งบริษัท Nissin Food Products Co.Ltd. เพียงชั่วเวลาทศวรรษต่อมา
นิชชินประสบความสำเร็จในการผลิตบะหมี่สำเร็จรูป อันโดะ ต้องการผลิต Instant
Noodles ดุจเดียวกับที่ Nestle ผลิต Instant Coffee เพราะชาวญี่ปุ่นนิยมบริโภคบะหมี่
อันโดะต้องการผลิตบะหมี่ชนิดที่กินที่ไหนก็ได้ กินเมื่อไรก็ได้ และใช้เวลาประกอบอาหารไม่นานนัก
ทั้งนี้เพื่อประหยัดเวลาสำหรับ การทำงาน
อันโดะได้ความคิดในการผลิตบะหมี่สำเร็จรูปจากภรรยา วันหนึ่ง ภรรยาของอันโดะนำบะหมี่สดไปทอดกรอบเพื่อกินเป็นอาหาร
อันโดะได้ ความคิดว่า หากนำบะหมี่กรอบผสมกับน้ำร้อนจัด ก็สามารถรับประทาน
เป็นบะหมี่น้ำได้ หากต้องการรสชาติ ก็ผสมเครื่องปรุง เนื้อสัตว์ และผัก นานาประเภท
ภายใต้กรอบความคิดดังกล่าวนี้ บะหมี่สำเร็จรูปรสไก่ Chikin Ramen ปรากฏสู่ตลาดญี่ปุ่นในปี
2501 และติดตลาดอย่างรวดเร็ว
Nissin Food Products Co.Ltd. มีฐานการผลิตแรกเริ่ม ณ เมือง Ikeda ซึ่งอยู่ห่างจากนครโตเกียวทางตะวันตกประมาณ
400 กิโลเมตร อันโดะได้รับยกย่องเป็น "วีรบุรษ" แห่งนครอิเกดะเพราะความสำเร็จในการผลิตบะหมี่สำเร็จรูปนำความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาสู่นครอิเกดะ
ทุกวันนี้ นครอิเกดะมีพิพิธภัณฑ์บะหมี่สำเร็จรูปหรือ Instant Noodle Museum
อันเป็นอนุสรณสถานสำหรับอันโดะ
ด้วยเหตุที่บะหมี่สำเร็จรูปถีบตัวขึ้นมาเป็นอาหารระดับชาติของญี่ปุ่น และอาหารระดับโลกในเวลาอันรวดเร็ว
อาณาจักรของ Nissin ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามกระบวนการสากลานุวัตรของบะหมี่สำเร็จรูปด้วย
Nissin กลายเป็นบรรษัทระหว่างประเทศ ในปี 2542 นิชชินมีบริษัท ในเครือรวม
19 บริษัทใน 6 ประเทศ (ดูภาคผนวก ก) เพิ่มเป็น 25 บริษัท (8 ประเทศ) ในปี
2544
Nissin ขยายกิจการในญี่ปุ่นในเบื้องต้น เพียงชั่วเวลา 12 ปี หลัง จากการผลิตบะหมี่สำเร็จรูป
Nissin เริ่มขยายธุรกิจออกนอกประเทศ ญี่ปุ่น ในปี 2513 Nissin จัดตั้งสาขา
ณ เมือง Gardena มลรัฐแคลิ- ฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระยะแรก นำเข้าบะหมี่สำเร็จรูป
Top Ramen จากญี่ปุ่น ตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในแคลิฟอร์เนียเติบโตอย่างรวด เร็วในปี
2515 Nissin จัดตั้งโรงงานผลิตบะหมี่สำเร็จรูปโรงงานแรกในสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี
2521 โรงงานที่สองก็ก่อตั้งขึ้น ณ เมือง Lancaster มลรัฐเพนน์ซิลวาเนีย จึงเป็นอันว่า
Nissin มีโรงงานผลิตบะหมี่สำเร็จรูปทั้งสองฟากฝั่งของสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากสหรัฐ
อเมริกาแล้ว Nissin ยังมีโรงงานในฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เนเธอร์แลนด์
และเยอรมนีอีกด้วย
ตลอดช่วงเวลาสี่ทศวรรษที่ผ่านมา Nissin ทุ่มทรัพยากรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเครื่องปรุงให้ต้อง ตามรสนิยมของชนชาติต่างๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของ
Nissin ได้แก่ การผลิต Cup Noodles ในปี 2514 เพราะเป็นครั้งแรกที่ผู้บริโภค
สามารถบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปจากถ้วย โดยที่สามารถเติมผักและเนื้อต่างหากได้
นับเป็นประดิษฐกรรมที่อำนวยความสะดวกในการบริโภคอย่างยิ่ง อันโดะได้ความคิดในการผลิต
Cup Noodles จากการสำรวจตลาดในสหรัฐอเมริกา เขาเห็นชาวอเมริกันฉีกซองบะหมี่สำเร็จรูป
แล้วหักบะหมี่ใส่ถ้วยและเติมน้ำร้อนรับประทาน อันเป็นเหตุให้เขาได้ความคิดเกี่ยวกับการผลิตภาชนะบรรจุบะหมี่สำเร็จรูป
ในปี 2516 Nissin เริ่มผลิต Cup Noodles ในสหรัฐอเมริกา โดยที่ในเวลาต่อมา
Cup Noodles วางเคียงคู่ Campbell Soup ตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ
ในปัจจุบัน Nissin มีส่วนแบ่งตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในญี่ปุ่นประมาณ 40% และในตลาดโลกประมาณ
10% การที่ตลาดบะหมี่สำเร็จรูปขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีส่วน ชักนำให้ผู้ผลิตรายใหม่ก้าวเข้าสู่ตลาดการแข่งขันเป็นไปอย่างเข้มข้น
ผู้ผลิตต้องแข่งกันลดต้นทุนการผลิต เพราะผู้บริโภค คุ้นเคยกับการซื้อบะหมี่สำเร็จรูปราคาถูก
การแสวงหาวัตถุดิบราคาถูกจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา
ทุกปีจะมีบะหมี่สำเร็จรูปรสชาติใหม่ออกสู่ตลาดนับร้อยรายการ สำหรับผู้ผลิตที่ต้องการบุกเบิกตลาดต่างประเทศ
ก็ต้องเน้นการ สำรวจตลาดและรสนิยมของผู้บริโภค เมื่อ Nissin บุกตลาดสหรัฐอเมริกา
บะหมี่สำเร็จรูปที่เป็นผลิตภัณฑ์ของ Nissin ต้องหั่นเส้นให้สั้นลง เพื่อให้เหมาะแก่ผู้บริโภคชาวอเมริกันที่นิยมใช้ช้อนส้อม
Nissin Foods (USA) ขาดทุนอยู่หลายปี เพราะต้องแข่งกับ Maruchan อันเป็นผลิตภัณฑ์ของ
Toyo Suisan Kaisha
ในปัจจุบัน ประชาชนญี่ปุ่นบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปคนละ 45 ก้อน ต่อปี ชาวอเมริกัน
9 ก้อนต่อปีต่อคน Nissin ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปสำหรับ ตลาดญี่ปุ่นประมาณปีละ
2,000 ล้านห่อ และสำหรับตลาดต่างประเทศประมาณปีละ 2,200 ล้านห่อ (www.just-food.com.,
April 17, 2001)
ผู้ผลิตรายสำคัญในตลาดบะหมี่สำเร็จรูปมิได้มีแต่บริษัทญี่ปุ่นเท่านั้น
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นชาติที่บริโภคบะหมี่สำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุด ถูกครอบงำโดย
Indomie อันเป็นผลผลิตของ PT Indofood Sukses Makmur ของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่
Salim Group ไต้หวันเป็นอีกชาติหนึ่งที่มีผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปรายสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง President Enterprise Corp (PEC) ซึ่งก่อตั้งในปี 2510
โดย Kao Chin-yen PEC ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2560 เมื่อ PEC มีอายุครบ 50 ปี
PEC จะกลายเป็นบรรษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้า Nestle บะหมี่สำเร็จรูป
Imperial Big Meal เป็นผลิตภัณฑ์สำคัญของ PEC ซึ่งประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในปัจจุบัน PEC มีโรงงานผลิตบะหมี่สำเร็จรูป 11 โรงในประเทศนั้น PEC ทำสัญญาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับ
Pepsi : Cola แห่งสหรัฐอเมริกา (ผู้ผลิตน้ำอัดลม KFC และมันฝรั่ง) Kikkoman
แห่งญี่ปุ่น (ผู้ผลิตซีอิ๊ว) และ San Miguel แห่งฟิลิปปินส์ (ผู้ผลิตไอศกรีม)
สำหรับประเทศไทย ตลาดบะหมี่สำเร็จรูปถูกยึดครองโดยบะหมี่ สำเร็จรูป 3 ยี่ห้อ
อันได้แก่ มาม่า (60%) ไวไว (21%) และยำยำ (13%) มาม่าเป็นผลิตภัณฑ์ของสหกรุ๊ป
ซึ่งทำสัญญาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับ Sumitomo Corporation Thailand ในการขยายตลาดในละตินอเมริกา
(The Nation, January 15, 2001) ยำยำเป็นผลิตภัณฑ์ของ Wan Thai Foods Industry
Co.Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Ajinomoto Corp (The Nation, June 8, 2000)
ส่วนไวไวเป็นผลิตภัณฑ์ของ Thai Preserved Food Factory Co. ซึ่งกำลังนำสูตรต้มยำหมูสับ
อันพัฒนาโดย ม.ล.สิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ (หมึกแดง) ออกสู่ตลาด (The Nation,
May 12, 2001)
บัดนี้ บะหมี่สำเร็จรูปถีบตัวขึ้นมาเป็นอาหารระดับโลกโดยปราศจากข้อกังขา
ความรวดเร็วในการตระเตรียมและปรุงอาหารประกอบกับความสะดวกในการบริโภค นับเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้บะหมี่สำเร็จรูปมีความเป็น
Fast Food ยิ่งกว่า Fast Food ประเภทใดๆ ตลาดของบะหมี่สำเร็จรูปยังคงขยายตัวต่อไปได้อีกมาก
และกระบวนการสากลานุวัตรของบะหมี่สำเร็จรูปจะยังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าผู้ผลิตหรือผู้บริโภคมิควรหลงลืม
โมโมฟุกุ อันโดะ
หมายเหตุ 1. ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ Nissin Food Products co.Ltd. ดู www.business.com
และ www.nissinfoods.com
2. ผลการสำรวจของ Fuji Research Institute เกี่ยวกับประดิษฐ- กรรมอันเยี่ยมยอดของชาวญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่
20 ดู BBC News, "Japan Votes Noodle the Tops", December 12, 2000. (www.
bbc.co.uk)
3. ข้อมูลเกี่ยวกับ Instant Noodle Museum ดู Yuri Kage-yama, "Originator
of Instant Noodle Faces Global Challenges in New Century", National Post
Online (February 5, 2001) ดู www.nationalpost.com
4. เมื่อแรกผลิต Cup Noodles มีชื่อว่า Cup O"Noodles เพิ่ง จะเปลี่ยนชื่อเป็น
Cup Noodles ในปี 2536 ดู www.nissinfoods.com
5. เมื่อเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ความรู้สึกชาตินิยมทบทวีอย่างรุนแรงในอินโดนีเซีย
มีการต่อต้านกลุ่มพ่อค้านายทุนจีนโดย ทั่วไป กลุ่มทุน Salim Group ตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่ของ
PT Indofood จากนครจาการ์ตาไปสู่สิงคโปร์ ดูรายงานข่าวของ Jim Erikson and
Keith Loveard, "Hot Noodle Take-away", Asiaweek (August 22, 1997)
6. ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท President Enterprise Corp ดูรายงาน ข่าว "How
to Conquer China (and the World) With Instant Noodles", The Economist
(June 17, 1995)