|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ มิถุนายน 2548
|
 |

แม้ชื่อ "ดาราเทวี" จะโด่งดัง กลายเป็น talk of the town แต่บุคคลที่เป็นเจ้าของเงินลงทุนกอนใหญ่ในโรงแรมแห่งนี้กลับไม่มีใครพูดถึงเท่าใดนัก
โดยบุคลิกส่วนตัวของสุเชฎฐ์ สุวรรณมงคล ผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงแรมดาราเทวี ชอบที่จะเป็นคน low profile ดังนั้นแม้ว่าข่าวคราวของโรงแรมดาราเทวีจะกลายเป็นเรื่องฮือฮา เมื่อถูกนักวิชาการล้านนาออกมาต่อต้านกรณีจำลองโบราณสถานและสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เข้าไปไว้ในโรงแรม ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิ กายนปีก่อน แต่จนถึงขณะนี้แทบจะไม่มีชื่อของเขาปรากฏอยู่ในข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย
ทั้งๆ ที่เขาจัดเป็นคนที่กว้างขวาง มีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ในหลายวงการ โดยเฉพาะวงการสื่อมวลชน
สุเชฎฐ์เป็นลูกชายคนโตในจำนวนลูกๆ 5 คนของเจริญ และศรีสุมาลย์ สุวรรณมงคล เจ้าของและผู้ก่อตั้ง "ซีเอส กรุ๊ป" กลุ่มธุรกิจการค้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัด ปัตตานี
คำว่า "ซีเอส" มาจากตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของชื่อและนามสกุลของ "เจริญ สุวรรณมงคล"
น้องๆ ของสุเชฎฐ์ แบ่งเป็นหญิงและชายอย่างละ 2 คน เรียงตามลำดับลงมาคือ ทิพวดี, อนุศาสน์, อนุพาสน์ และรื่นวดี สุวรรณมงคล
นอกจากจะเป็นตระกูลนักธุรกิจเก่าแก่และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว 5 พี่น้องสุวรรณ มงคล ยังถือเป็นทายาทอีกกลุ่มหนึ่งของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ต้นตระกูลคณานุรักษ์ โดยอยู่ในสายพระจีนคณานุรักษ์ อดีตหัวหน้าจีนเมืองตานี ที่ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจากศรีสุมาลย์ มารดาของพี่น้องทั้ง 5 คน เป็นลูกสาวของวลัย เดชะ สุวรรณ ซึ่งนามสกุลเดิมก่อนแต่งงานคือคณานุรักษ์ ดังนั้นจึงถือว่าทั้ง 5 คน เป็นทายาทของพระจีนคณานุรักษ์ในชั้นที่ 6
โดยทายาทของหลวงสำเร็จกิจกรจางวางนั้น กระจายออกไปกว้างขวาง หลากหลายสายด้วยกัน ที่มีชื่อเสียงในสังคมปัจจุบัน อาทิ สวัสดิ์ วัฒนายากร อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด ปัจจุบันเป็นองคมนตรี ที่เป็นบุตรของขุนธำรงพันธุ์ ภักดีกับสร้อยทอง ซึ่งใช้นามสกุลเดิมคณานุรักษ์
หรือสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ภรรยาของสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ รองประธานกลุ่มเซ็นทรัล ก็ถือเป็นทายาทฯ ชั้นที่ 6 เพราะเป็นบุตรสาวคนที่ 3 ของนายแพทย์สืบสาย สุวรรณจินดา กับโสภาพันธ์ นาม สกุลเดิม วัฒนายากร
กลุ่มซีเอสมีธุรกิจที่หลากหลายแต่ที่โดดเด่นที่สุดคือธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถกระบะยี่ห้ออีซูซุ ในนามบริษัทปัตตานีเจริญเทรดดิ้ง (1972) และบริษัทอีซูซุหาดใหญ่
ในฐานะลูกชายคนโต สุเชฎฐ์ได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการของครอบครัว โดยรับผิดชอบในการบุกเบิกบริษัทอีซูซุหาดใหญ่
ในช่วงที่เศรษฐกิจประเทศไทย กำลังเริ่มเข้าสู่ยุคฟองสบู่ เมื่อบริษัทตรีเพชร อีซูซุเปิดกว้างให้ดีลเลอร์จากจังหวัดต่างๆ สามารถทำตลาดข้ามเขตได้ อีซูซุหาดใหญ่ ก็ได้ใช้ช่องทางนี้ขยายตัวเข้ามาในกรุงเทพฯ ในนามบริษัทอีซูซุ ออโต้ เซ็นเตอร์ โดยการสร้างโชว์รูมสวยหรูขนาดใหญ่ขึ้นบนถนนรามคำแหง (สุขาภิบาล 3 เดิม) เป็นสาขาแรก
ด้วยบุคลิกที่กล้าได้กล้าเสีย ทำให้อีซูซุ ออโต้ เซ็นเตอร์ สามารถรุกตลาดรถกระบะ อีซูซุในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 12 สาขา ทำยอดขาย แซงหน้าดีลเลอร์รายใหญ่เดิมของอีซูซุหลายราย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโค้วยู่ฮะ หรืออึ้งง่วนไต๋ จนได้ขึ้นเป็นดีลเลอร์อันดับ 1 ของอีซูซุ ช่วงก่อนที่ประเทศไทยจะประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ
ถือเป็นตัวอย่างของธุรกิจจากหัวเมือง ที่สามารถประสบความสำเร็จในการขยายฐานเข้ามาตีตลาดในกรุงเทพฯ ที่ถูกกล่าวขวัญถึงกันอย่างมาก
แต่ปรากฏว่าหลังประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 แม้จะเป็น ดีลเลอร์ที่มียอดขายสูงสุดของตรีเพชรอีซูซุ แต่กลุ่มอีซูซุหาดใหญ่หนีไม่พ้น ต้องประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนต้องยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการในคดีดำเลขที่ 1260/2545 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2545 และศาลได้อนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2546 ในคดีแดงเลขที่ 1372/2546 โดยให้บริษัทซีเอส แพลนเนอร์ เป็นผู้บริหารแผน
ว่ากันว่าปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นกับกลุ่มอีซูซุหาดใหญ่ครั้งนี้ ทำให้สุเชฎฐ์ถึงกับมองหน้าญาติพี่น้องไม่ติด
เขาถอนตัวออกจากกลุ่มซีเอส โดยมีอนุพาสน์น้องชายคนเล็กเข้ามารับภาระดูแลกิจการอีซูซุหาดใหญ่แทนพี่ชายคนโต
หลังจากนั้นชื่อของเขาก็เงียบหายไปนาน จนมาเริ่มปรากฏขึ้นอีกครั้ง ในฐานะนักลงทุนที่ขนเงินขึ้นมาซื้อที่ดิน ริมถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพง ซึ่งเคยเป็นร้านอาหารบ้านสวนเชียงใหม่ของจุลทรรศ์ กิตติบุตร เพื่อสร้างเป็นโรงแรมสุดหรูระดับ 5 ดาว ที่มีชื่อว่า ดาราเทวี
เพื่อนของเขาคนหนึ่ง เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าแรงบันดาลใจในการสร้างโรงแรมดาราเทวีขึ้นมานั้น นอกจากอุปนิสัยเดิมที่เขาเป็นคนชอบสะสมของเก่าแล้ว ยังเนื่องมาจากในช่วงแรกที่เขาขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ เขามีบ้านพักอยู่ในรีสอร์ตแห่งหนึ่งในอำเภอแม่ริม ใกล้กับโรงแรมรีเจนท์ เชียงใหม่ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงแรมโฟร์ ซีซัน เชียงใหม่ และ ชลลดา ภรรยาของเขา มักจะเข้าไปใช้บริการสปาในโรงแรมแห่งนี้เป็นประจำ ทำให้เขาเกิดความประทับใจในบรรยากาศของโรงแรมแห่งนี้จนต้องนำมาสร้างเป็นดาราเทวี
โดยงบประมาณในการก่อสร้างโรงแรมแห่งนี้ที่สูงถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งข่าวในตอนแรกบอกว่าไม่ได้ใช้สถาบันการเงินใดเลยนั้น แต่ช่วงหลังเขาได้ยื่นเรื่องขอกู้เงินจากหลายธนาคาร 1 ในนั้นคือธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันแม้ว่าชื่อของสุเชฎฐ์ จะเงียบหายไปจากวงการดีลเลอร์รถยนต์ แต่สำหรับ คนเล่นรถแล้ว ต่างรู้ดีว่าเขาเป็นคนที่ชอบสะสมรถยนต์หรูราคาแพง โดยเฉพาะยี่ห้อเฟอรารี่คันละหลายสิบล้าน ก็มีการยืนยันว่าเขามีสะสมไว้หลายคัน
ทุกวันนี้ สุเชฎฐ์ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างเงียบๆ ที่เชียงใหม่ ตามอุปนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนชอบ low profile ภายในโรงแรมดาราเทวี ที่เขาไม่ต้องเข้าไปยุ่งในเรื่องการบริหาร เพราะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของมืออาชีพที่มาจากแมนดาริน กรุ๊ป
|
|
 |
|
|