ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ประมาณว่า
1,000 ไร่ ศักยภาพของที่ดินเหล่านี้มีอยู่สูง เพราะส่วนมากอยู่ใจกลางเมือง
แต่ทว่าปัญหาที่ทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่สามารถลงมือพัฒนาที่ดินได้อย่างสะดวก
ก็เพราะว่าที่ดินเหล่านั้นถูกครอบครองอยู่แล้วและเป็นชุมชนแออัดกว่า 90%
ชุมชนแออัดที่อยู่บนที่ดินของทรัพย์สินฯ ทั่วกรุงเทพฯ มีถึง 105 แห่ง ถ้าสามารถนำที่ดินเหล่านี้มาพัฒนาได้
นั่นคือขุมทรัพย์จำนวนมหาศาล
ภาระกิจประการแรกของโครงการพัฒนาที่ดินของทรัพย์สินฯ ก็คือ ย้ายผู้อยู่ในชุมชนแออัดออกไปก่อน
แต่ก็เป็นงานที่แสนยากสำหรับหน่วยงานนี้ เพราะทุกครั้งที่ลงมือทำ ชาวบ้านจะต้องยกขบวนออกมาคัดค้านอยู่เสมอ
ที่หน้าวังแดง ที่ทำการของสำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่เคยร้างผู้คนจากชุมชนแออัด
ปัญหาเรื่องยกขบวนมาประท้วงนี้ ทำให้ภาพพจน์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ หมองลงไปบ้างบางครั้ง
จึงต้องหาวิธีที่ดีกว่านี้มาจัดการ
วิธีแก้ปัญหาที่ถูกหยิบยกมาใช้นั้น เริ่มจากการใช้แลนด์แชร์ริ่งเข้ามาจัดการ
วิธีแลนด์แชร์ริ่งคือ การจัดผลประโยชน์บนที่ดินแปลงนั้นๆ ให้ลงตัวระหว่างผู้อยู่อาศัยเดิม
และผู้ที่จะเข้ามาจัดหาผลประโยชน์ด้วยการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้อยู่เดิม ที่จะเข้ามาอาศัยในโครงการที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ได้
ไม่ต้องถูกไล่ที่ไปหาที่อยู่ใหม่ ในส่วนของผู้ที่จะพัฒนาโครงการ ก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหาการเคลื่อนย้ายผู้อยู่เดิมออกไป
แลนด์แชร์ริ่งที่ทำไปแล้วคือ ชุมชนเทพประทาน ตรอกไผ่สิงห์โต ชุมชนสามยอด
ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแม้จะยังไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการที่แก้ปัญหาได้อย่างสมบูรณ์
แต่ก็ยังดีกว่ารูปแบบเดิมๆ ที่ให้ชาวบ้านอพยพขนย้ายออกไปเผชิญโชคชะตาเอาดาบหน้ากันเอง
จนทำให้เกิดแรงแข็งขืนต่อต้านขึ้นมา
วิธีการล่าสุดที่ทรัพย์สินฯ นำมาใช้คือ การประสานงานระหว่างนักพัฒนาชุมชนกับผู้อยู่อาศัยเดิม
โดยมี ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ อดีตอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคลุกคลีกับงานด้านชุมชนแออัดมานานกว่า
20 ปี เคยร่วมงานกับรัฐมนตรีดำรงค์ ลัทธพิพัฒน์ของพรรคประชาธิปัตย์สมัยที่รับผิดชอบการเคหะแห่งชาติ
เข้ามาพัฒนาสลัมให้มีความเป็นอยู่ทีดีขึ้น มานั่งเป็นผู้อำนวยการโครงการสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชน
หน่วยงานนี้คือหน่วยงานล่าสุดที่ถูกตั้งขึ้น เพื่อป้องกันปัญหา การเรียกร้องความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้อยู่อาศัยในที่ดินของทรัพย์สินฯ
ไปแล้วโดยเข้าไปคลุกคลีสร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้าน จนได้รับความร่วมมือในระดับหนึ่ง
พร้อมกับลดแรงต้านที่เคยรุนแรงให้ลดน้อยลง
ม.ร.ว. อคิน เล่าถึงงานที่รับผิดชอบนี้ว่า จะเข้าไปลงพื้นที่ที่ต้องการพัฒนาโดยตรง
งานแรกที่ต้องทำคือ ทำความเข้าใจกับผู้อยู่เดิมให้รู้ว่าการพัฒนาคืออะไร
และชาวบ้านจะได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ผลพิสูจน์ของแนวคิดนี้คือโครงการบึงพลับพลา ที่ซอยรามคำแหง 21 ม.ร.ว. อคินเข้าไปลงพื้นที่เพื่อลดแรงต้านจากชาวบ้าน
เพราะโครงการนี้หลังจากที่ประกาศออกไป ก็มีการคัดค้านตามมาทันที
สุดท้ายก็ยังมีผู้เช่ายกทัพมาชุมนุมอยู่หน้าสำนักงานทรัพย์สินฯ เช่นเดิม
และเลือกวันเฉลิมฉลองครบ 46 ปีในการก่อตั้งมาแสดงพลังอีกด้วย
ที่ดินโครงการบึงพลับพลาเต็มแปลงมีอยู่ 300 กว่าไร่ ต้องกันมาสร้างที่พักอาศัยใหม่ประมาณ
60 ไร่ พื้นที่ถูกทางด่วนเวนคืน 40 ไร่ ก่อสร้างถนนสาธารณูปโภคประมาณ 30
ไร่ เหลือที่ดินสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ประมาณกว่า 100 ไร่
สำหรับหลักเกณฑ์ของการจัดระเบียบนี้คือ ผู้ที่ปลูกสร้างบ้านเองในบริเวณแนวคลองลาดพร้าวและแนวคลองพลับพลา
จะต้องจ่ายค่าเช่าตารางวาละ 2 บาทต่อเดือน แบ่งการใช้กรรมสิทธิ์คือ ผู้มีสัญญาเช่าที่ดิน
ได้รับสิทธิ์เช่าที่ดิน 80-120 ตารางวา และเงินช่วยเหลือค่าก่อสร้าง 100,000
บาท ครอบครัวบริวารที่มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีสัญญาเช่าที่ดิน ได้สิทธิเช่าที่ดินใหม่
40 ตารางวา ได้ค่าช่วยเหลือก่อสร้าง 60,000 บาท ครอบครัวบริวารที่ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง
ได้รับสิทธิเช่าที่ดิน 20-25 ตารางวา และค่าช่วยเหลือการก่อสร้าง 20,000
บาท
สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ 30 ไร่นั้น จะต้องจ่ายค่าเช่าพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่สำนักงานฯ
จัดให้ในอัตราเดือนละ 4 บาทต่อตารางวา ส่วนผู้มีสัญญาเช่าได้รับสิทธิเช่าที่ดินพร้อมอาคารขนาดบ้านเดี่ยว
100, 80, 60, 48, 36 ตารางวาตามขนาดพื้นที่เดิม
ครอบครัวบริวารที่มีบ้านเป็นของตัวเองแต่ไม่มีสัญญาเช่าได้รับสิทธิเช่าที่ดินพร้อมอาคารขนาดบ้านเดี่ยว
36 ตารางวา ทาวน์เฮาส์ 18 ตารางวา ครอบครัวบริวารที่ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง
ได้รับสิทธิเช่าที่ดินพร้อมอาคาร ขนาดบ้านทาวน์เฮาส์ 18 ตารางวา ผู้อยู่อาศัยจะได้รับค่าช่วยเหลือการขนย้ายรายละ
5,000 บาท
ม.ร.ว. อคิน ให้ความเห็นถึงม็อบนี้ว่า เป็นเพียงกลุ่มน้อยที่ยังไม่ยอมรับหลักการและต้องการเงินชดเชยเพิ่ม
แต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะคนส่วนใหญ่ในชุมชนเห็นด้วยกับทางทรัพย์สินฯ
งานของหน่วยงานสร้างสรรค์จะว่าไปแล้วคือ ทัพหน้าโครงการพัฒนาที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ
โดยใช้รูปแบบของงานมวลชนเข้าไปเกาะติด รับรู้ปัญหา และสลายม็อบก่อนที่ม็อบจะเกิดขึ้น
ในยุคที่สำนักงานทรัพย์สินฯ มีความจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มขึ้นด้วยการพัฒนาที่ดิน
ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดภาพพจน์ว่าแสวงหาประโยชน์โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของคนยากจน
งานของ ม.ร.ว. อคิน แม้จะไม่ใช่งานพัฒนาที่ดินโดยตรง แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการต่างๆ
เป็นอย่างมาก