|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
เรดด์ รับกระแสคนรักสุขภาพโต เดินหน้าชูจุดขายเรื่องความปลอดภัยต่อเนื่อง ภายใต้คอนเซ็ปต์ "ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ" ล่าสุดเปิดตัวเครื่องไฟฟ้าไล่ยุง ชนิดน้ำ กลิ่นไพน์ เทคโนโลยีใหม่ไร้ควัน สนองผู้บริโภคที่กังวลเรื่องความปลอดภัย เป้าหมายครั้งนี้เพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดผลิตภัณฑ์กำจัดยุงแบบไฟฟ้าชนิดน้ำ แทนที่แบรนด์ "อาท" ด้วยแชร์ที่มากกว่า40% ภายใน 4 เดือนนับจากนี้
"เรดด์" กำลังเปิดเกมรุกตลาดเครื่องป้องกันยุงแบบไฟฟ้า ด้วยการส่งเทคโนโลยีใหม่ "เรดด์โพรเทคเตอร์ไฟฟ้า ชนิดน้ำ" เพื่อเป็นจิ๊กซอว์เสริมภาพการเป็นสินค้าจากธรรมชาติปลอดภัยต่อผู้ใช้ ที่ในยุคนี้ถือเป็นจุดขายสำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภครองจากเรื่องประสิทธิภาพสินค้าเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นโพซิชันนิ่งที่เรดด์พยายามตอกย้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อยึดภาพการเป็นผู้เชี่ยวชาญก่อนคู่แข่ง โดยเฉพาะ "คายาริ" ที่แม้จะไม่ใช่คู่ปรับโดยตรง แต่ก็เป็นผู้เล่นที่ชูเรื่องธรรมชาติและความปลอดภัยเป็นคีย์หลักในการสื่อสารกับผู้บริโภคเช่นกัน รวมทั้งเพื่อย้ำจุดอ่อนของ "อาท (ARS)" ผู้นำที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพการไล่ยุงเพียงอย่างเดียว โดยเรดด์เชื่อว่ายุทธศาสตร์นี้จะช่วยดันแบรนด์ขึ้นเป็นผู้นำแทน "อาท" ได้ในเร็วๆนี้
"ความปลอดภัย เป็นปัจจัยการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงของลูกค้าในยุคนี้ รองจากเรื่องประสิทธิภาพสินค้า และมีแนวโน้มจะสำคัญมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น โดยเรื่องความสะดวกและราคาเป็นปัจจัยท้ายๆที่ลูกค้าจะใช้ในการตัดสินใจซื้อ ดังนั้นบริษัทจึงตอกย้ำเรื่องความปลอดภัยต่อเนื่อง" จิตตินทร์ สุวานิชย์กุล ผู้จัดการแบรนด์ "เรดด์" บริษัท เอส.ซี.ยอห์นสัน แอนด์ ซัน จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการ รายสัปดาห์"
ปัจจุบัน ภาพรวมของผลิตภัณฑ์กำจัดยุงมีมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ออกฤทธิ์ฆ่าทันที หรือประเภทสเปรย์มีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท มีไบกอนเป็นผู้นำตลาด กลุ่มออกฤทธิ์ไล่มูลค่า 875 ล้านบาท ประกอบด้วย ประเภทยาจุดแบบขด 750 ล้านบาท มีห่านฟ้าเป็นผู้นำ 37% แบบไฟฟ้าที่มีทั้งชนิดน้ำและชนิดแผ่นรวม 125 ล้านบาท มีอาทเป็นผู้นำครองส่วนแบ่ง55% และกลุ่มสุดท้ายแบบใช้เหยื่อล่อมีมูลค่า 125 ล้านบาท
หากพิจารณาเฉพาะเซกเมนต์เครื่องไล่ยุงไฟฟ้า มูลค่าประมาณ 125 ล้านบาท ที่แบ่งเป็นชนิดน้ำและชนิดแผ่นหรือแมทที่มีสัดส่วน 50-50 เท่ากันแล้ว แบรนด์อาทยังคงเป็นผู้นำในตลาดนี้ทั้ง 2 ชนิดครองส่วนแบ่ง 55% โดยมีเรดด์เป็นเบอร์ 2 ด้วยส่วนแบ่ง 20% ชิลด์ท้อกซ์ 13% ไบกอน 11% และอื่นๆ 1% แต่ถ้าเจาะลึกลงไปเฉพาะตลาดเครื่องไล่ยุงไฟฟ้าชนิดน้ำแล้ว เรดด์จะมีส่วนแบ่งที่ 27% ขณะที่แบรนด์อาทมี 33% ทำให้ห่างกันเพียง 6% เท่านั้น ซึ่งนับว่าไม่ไกลเกินเอื้อม และยิ่งผู้นำไม่มีความเคลื่อนไหวในตลาด ทำให้มีความเป็นไปได้สูงกับการประกาศขึ้นเป็นผู้นำของเรดด์ในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ "เรดด์"จะเป็นแบรนด์ในบริษัทเอส.ซี.ยอห์นสัน แอนด์ ซัน จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาเดียวกับ "ไบกอน" แบรนด์ที่แข็งแกร่งในตลาดผลิตภัณฑ์กำจัดยุงก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถจะใช้ชื่อเสียงของไบกอนมาช่วยฝ่าสนามรบครั้งนี้ได้ เนื่องจากการวางจุดขายที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง นั่นคือ การใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติเพื่อความปลอดภัย ขณะที่ไบกอนจะชูเรื่องประสิทธิภาพการกำจัดยุงและแมลงเป็นสำคัญ โดยเน้นกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นกลยุทธ์หลัก เช่น แคมเปญป้องกันไข้เลือดออก ดังนั้น เรดด์จึงต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อสะท้อนภาพแบรนด์ที่มีความปลอดภัยออกมาให้ชัดเจน เหมือนกับที่ไบกอนมีภาพแบรนด์ที่ชำนาญเรื่องการกำจัดนั่นเอง
ดังนั้น การทำตลาดในปีนี้ เรดด์จึงให้ความสำคัญกับจุดขายเดิมที่ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นจุดแข็งไปแล้ว ก็คือ เรื่องความปลอดภัย โดยล่าสุดเปิดตัว เครื่องไล่ยุงไฟฟ้าชนิดน้ำ กลิ่นไพน์ ที่ใช้ส่วนผสมของสารสกัดจากธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่ไร้ควัน พร้อมทุ่มงบ 15ล้านบาท สำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดโรดโชว์ การแจกสินค้าตัวอย่างกว่า 8 หมื่นชุดสำหรับลูกค้าที่ซื้อเรดด์ชนิดสเปรย์ และที่สำคัญคือการจัดบูธเพื่อเอดดูเคทผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ที่ถูกวิธี รวมถึงการอธิบายเรื่องค่าไฟเพื่อตัดความกังวลให้กับลูกค้า เช่น การเปรียบเทียบอัตราค่าไฟ โดยเฉลี่ยถ้าใช้สินค้า 8 ชั่วโมงต่อ 1 คืน จะกินไฟประมาณ 11 สตางค์ ขณะที่พัดลม 1ตัว จะเสียค่าไฟประมาณ 1 บาทต่อคืนเมื่อเทียบกับการใช้ที่เท่ากัน"
ด้วยจุดแข็งดังกล่าว จึงทำให้เรดด์กล้ามองและจะเชยิบตัวเองขึ้นไปแทนที่ "อาท" โดยตั้งเป้าจะใช้เวลาเพียง 4 เดือนนับจากนี้ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายกับการขยับแชร์ของเรดด์ให้เพิ่มขึ้นมาอย่างน้อยอีก 6% แต่จากการที่ผู้นำอย่างอาทยังคงทำตลาดไปเรื่อยๆโดยไม่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนเช่นนี้ ก็คงไม่ยากเกินไปสำหรับแบรนด์เรดด์ที่มีการรุกตลาดออกสินค้าใหม่และสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา "อาท" มีเพียงการเปิดตัวสินค้าใหม่อย่างเงียบๆเท่านั้น และชูเรื่องประสิทธิภาพการกำจัดเป็นหลัก ซึ่งอาจเป็นเพราะคุณสมบัติดังกล่าวเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจซื้อสูงถึง 70% ขณะที่เรื่องความปลอดภัยนี้ยังมีขนาดเล็กมากเพียง 10% ทำให้อาจมุ่งที่จะสื่อสารกับผู้บริโภคในคอนเซ็ปต์เดิมๆ
ทั้งนี้ แม้เครื่องไฟฟ้าไล่ยุงที่เน้นเรื่องความปลอดภัยจะยังมีมูลค่าไม่มาก แต่จากแนวโน้มตลาดที่เชื่อว่า ผู้บริโภคในต่างจังหวัดจะให้การยอมรับสินค้ากลุ่มนี้ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ขณะที่คนในกรุงเทพหันมาใช้เครื่องไฟฟ้าไล่ยุงชนิดน้ำแล้วมากกว่า 95% ก็จะทำให้เซกเมนต์นี้เติบโตได้อีกมากและมีสัดส่วนมากกว่าเครื่องไล่ยุงไฟฟ้าชนิดแผ่นในอนาคตด้วย โดยปีนี้คาดว่าจะเติบโตกว่า 30% และในอีก 3 ปีจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 70% ส่วนชนิดแผ่นจะเหลือเพียง 30% และจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้อาทตกที่นั่งลำบากมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มทำรายได้ให้อาทมากกว่าเมื่อเทียบกับชนิดน้ำ
ไม่เพียงเท่านี้ สิ่งที่ทำให้เรดด์มั่นใจและเชื่อว่า เรื่องความปลอดภัยเป็นแนวทางที่เดินมาถูกต้อง คือ ส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นกว่า 7% ของแบรนด์ไบกอนชนิดยาจุดแบบขด จากเดิมที่มีส่วนแบ่ง 10% ก็เพิ่มเป็น 17%ในปีนี้ โดยมีกลิ่นลาเวนเดอร์ ที่เน้นความเป็นธรรมชาติลอนช์เข้าสู่ตลาดเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นตัวที่ทำให้เกิดการเติบโต จากเดิมที่ต้องการนำมากระตุ้นและสร้างสีสันให้ตลาดเท่านั้น เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ไม่ค่อยมีนวัตกรรมมากนัก หรือแบรนด์คายาริที่ชูจุดขายว่าเป็นสมุนไพรจุดไล่ยุงตั้งแต่แรกก็เติบโตเพิ่มขึ้น 2% เป็น 3.8% ขณะที่แบรนด์อื่นๆ เช่น ช้าง คินโช หรือแม้แต่ผู้นำยาจุดแบบขดอย่างห่านฟ้ากลับมีส่วนแบ่งลดลง
สำหรับตลาดยาจุดกันยุงแบบขด ต้องถือว่า "คายาริ" เป็นแบรนด์แรกที่นำเรื่องสมุนไพรมาเป็นจุดขาย เพราะที่ผ่านมาการแข่งขันในตลาดนี้จะเน้นที่ตัวขดที่สามารถจุดได้ต่อเนื่อง ประสิทธิภาพการไล่ รวมไปถึงราคา โดยมีห่านฟ้า เจ้าของสโลแกน "ห่านดินกินหญ้า ห่านฟ้ากินยุง" ผู้นำตลาดแบบเบ็ดเสร็จ 37% ตามมาด้วยช้าง24% ไบกอน 17%และคินโช6% แม้ตลาดนี้ผู้บริโภคจะไม่มีความภักดีต่อแบรนด์มากเมื่อเทียบกับเครื่องไล่ยุงแบบไฟฟ้าก็ตาม แต่ในฐานะน้องใหม่ที่ต้องมาสู้กับแบรนด์เก๋าที่อยู่ในตลาดมานานและคุ้นเคยกับผู้บริโภคเป็นอย่างดี ทำให้คายาริจึงสร้างความต่าง ด้วยการนำเสนอ 2 กลิ่นใหม่คือ สูตรสมุนไพรจุดไล่ยุงและสูตรกลิ่นดอกไม้ ซึ่งเป็นการลบจุดด้อยของสินค้าชนิดนี้ที่มีกลิ่นฉุนนั่นเอง
ที่ผ่านมา เรดด์ก็เคยออกสินค้าที่อิงเรื่องธรรมชาติในสินค้ากลุ่มนี้มาแล้ว เช่น การออกสินค้าตัวขดสีแดงที่มีกลิ่นหอมของดอกไม้ป่า และกลิ่นหอมกุหลาบมาเป็นจุดขาย หรือในรายของไบกอน ก็เคยออกกลิ่นตะไคร้หอม แต่กลับไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในตอนนั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าการสื่อสารอาจยังไม่เข้าถึงผู้บริโภค อีกทั้งเทรนด์การดูแลสุขภาพหรือความปลอดภัยเพิ่งเป็นกระแสที่ชัดเจนได้ไม่นาน ที่สำคัญผู้บริโภคอาจยังยึดติดว่ากลิ่นที่ฉุนจะมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงได้ดีกว่า
ทั้งนี้ จากความต่อเนื่องในการตอกย้ำโพซิชันนิ่งของแบรนด์เรดด์ ตลอดจนการนำจุดขายเรื่องธรรมชาติไปสู่ไลน์สินค้าอื่นๆ เช่น เรดด์สเปรย์กลิ่นลาเวนเดอร์ หรือกลิ่นเลมอนนีน และล่าสุดกับเรดด์โพรเทคเตอร์ไฟฟ้าชนิดน้ำ กลิ่นไพน์ ก็ทำให้ภาพการเป็นสินค้ากำจัดยุงที่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยติดไปกับแบรนด์เรดด์โดยปริยาย โดยปัจจุบันรายได้หลักของเรดด์มาจากกลุ่มสเปรย์ 60% เครื่องไล่ยุงไฟฟ้า 35% อื่นๆ 5%
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า กลยุทธ์ของเรดด์ในครั้งนี้จะเป็นตัวแปรผลักดันตนเองขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดเครื่องไฟฟ้าไล่ยุงชนิดน้ำได้หรือไม่ และคงคอยจับตามองว่า แบรนด์อาทจะขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวไปในทิศทางใด เมื่อเบอร์สองหายใจรดต้นคอขนาดนี้
|
|
 |
|
|