ไทยสกายเริ่มต้นด้วยการสร้างภาพของความยิ่งใหญ่เพราะมี "คีรี กาญจนพาสน์"
เป็นผู้ปลุกปั้นเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว คีรีประสบความสำเร็จและมือขึ้นในด้านธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจเคเบิลทีวีจึงดูยิ่งใหญ่ตามแบบฉบับของเขา
ทว่าหนึ่งปีผ่านไปแล้วก็ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ จนน่าเป็นห่วง
เดือนพฤษภาคม ปี 2534 ไทยสกายทีวี เปิดฉากแนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการ หลังจากได้รับสัมปทานดำเนินกิจการเคเบิลทีวีจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยในยุคที่มีผู้อำนวยการชื่อ
ราชันย์ ฮูเซ็น นับเป็นรายที่สองในธุรกิจเคเบิลทีวีต่อจากไอบีซีซึ่งได้รับสัมปทานเป็นรายแรกและแพร่ภาพไปก่อนหน้านี้แล้วหนึ่งปี
"เราไม่ต้องการเป็นแค่โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกเท่านั้น แต่เราวางเป้าหมายที่จะเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจบันเทิงเต็มรูปแบบของประเทศไทย"
คีรี กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามบรอดคาสติ้ง ซึ่งเป็นเจ้าของไทยสกายแถลงด้วยความมั่นอกมั่นใจในตอนนั้น
ช่วงนั้นชื่อ คีรี กาญจนพาสน์ กำลัง "ฮ้อต" อย่างสุด ๆ สำหรับวงการธุรกิจเมืองไทย
ด้วยการนำบริษัทธนายงเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เป็นผลสำเร็จ และตามมาด้วยยุทธการ
"แชร์แมนเดท" เทคโอเวอร์โรงแรมราชดำริอันลือลั่น
การกระโจนเข้าสู่สนามเคเบิลทีวี ทำให้หลาย ๆ คนวาดภาพว่า จะสร้างความคึกคักให้กับวงการเคเบิลทีวีเมืองไทยเป็นแน่
หลังจากที่มีแต่ไอบีซีของกลุ่มชินวัตรอยู่ในธุรกิจนี้แต่เพียงผู้เดียว
ไอบีซีขณะนั้นถึงกับต้องปรับปรุงการดำเนินงานอย่างขนานใหญ่ เพื่อรับมือกับคู่แข่งรายใหม่
หลังจากที่อยู่แบบสบาย ๆ ไร้คู่ต่อกรมาปีกว่า ๆ
ไทยสกายเริ่มแพร่ภาพออกอากาศอย่างเป็นทางการตอนต้นปี 2535 ด้วยภาพที่ยิ่งใหญ่จากการทุ่มเงินกว่า
100 ล้านบาท ดึงการประกวดนางงามจักรวาลประจำปี 2535 เข้ามาจัดในไทยเป็นครั้งแรกในนามของสยามบรอดคาสติ้ง
ตามสไตล์ของคนที่ทำอะไรเล็ก ๆ ไม่เป็นอย่างคีรี และงานนี้ดูเหมือนจะเป็นงานเดียวที่พอจะกล่าวได้ว่าเป็นผลงานที่โชว์ได้ของไทยสกาย
แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งบัดนี้เวลาล่วงเลยมาปีครึ่งแล้ว เป้าหมายที่จะเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจบันเทิงเต็มรูปแบบในประเทศไทยของไทยสกายที่คีรีคุยไว้
ยังไม่มีวี่แววว่าจะเป็นจริงขึ้นมาได้ คู่แข่งอย่างไอบีซีเสียอีกที่มีการเคลื่อนไหวปรับปรุงรายการเป็นระยะ
ๆ
ฟอร์มใหญ่โตที่สร้างเอาไว้แต่แรกของไทยสกายมาถึงวันนี้กลับกลายเป็นว่าท่าดีทีเหลวเสียแล้ว!!
ข้อผิดพลาดประการแรกของไทยสกาย เป็นเรื่องของการบริหารงานภายในองค์กรที่ไม่มีการประสานงานเพื่อเดินไปในทิศทางเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นระหว่างผู้บริหารในระดับเดียวกัน หรือระหว่างพนักงานระดับล่างด้วยกัน
การลงทุนเปิดไทยสกายขึ้นมานั้น คีรียืนยันว่าเป็นการลงทุนโดยส่วนตัวของเขาคนเดียว
100% ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทธนายงใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้คัดเลือกหรือแต่งตั้งผู้บริหารเข้ามาทำงานให้ไทยสกายด้วยตัวของเขาเองมาตั้งแต่แรก
ความที่คีรีไปเติบโตในฮ่องกง เพื่อนทางธุรกิจของเขาจึงมักเป็นชาวฮ่องกงมากกว่าคนไทย
ดังนั้นผู้บริหารไทยสกายเมื่อแรกตั้งจึงเป็นชาวฮ่องกงล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็น
มร. คิท ซีโต้ มร. ลอเรนซ์ โล และ มร. คาแรงค์ เชง ส่วนผู้บริหารฝ่ายไทยคีรีได้แต่งตั้ง
มรว. ราษี อมาตยกุล ภรรยาของพลตำรวจเอกพงษ์อำมาตย์ มาตยกุล เข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูง
"ผู้บริหารฮ่องกงและคนไทยต่างคนต่างทำงานไม่ประสานซึ่งกันและกัน ต่างแบ่งพรรคแบ่งพวก
เช่น ซีโต้กับโลเกาะเกี่ยวมาด้วยกัน ในขณะที่เชงมีความสนิทสนมกับคุณหญิงจึงเป็นอีกสายหนึ่ง
ทั้งโลและเชงมีประสบการณ์ด้านทีวีที่เหมือนกันต่างคนจึงต่างเก่งด้วยกันทั้งคู่
นอกจากนี้ เขายังไม่มีเวลานั่งอยู่เมืองไทยนาน ๆ หลายวันเหมือนกับพวกเรา
สัปดาห์หนึ่งเขาจะมาทำงานเพียงแค่วันหรือสองวันเท่านั้น" อดีตผู้บริหารคนหนึ่งของไทยสกายที่เป็นคนไทยผู้หนึ่งกล่าว
มรว. ราษี กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า คีรีต้องการให้ตนเข้ามาทำงานเฉพาะช่วงที่มีการถ่ายทอดสดการประกวดนางงามจักรวาลเท่านั้น
มิได้ต้องการให้เข้ามานั่งบริหารงานอย่างจริงจังในระยะยาว ซึ่งโดยส่วนตัวคุณหญิงก็ได้ออกปากก่อนหน้าที่จะรับเข้ามาทำให้คีรีว่าเธอทำงานไม่เป็น
เมื่อหมดงานถ่ายทอดสดจึงเท่ากับว่าเป็นการสิ้นสุดภาระของคุณหญิงไปด้วยเช่นกัน
จากปัญหาทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้มองเห็นภาพย้อนหลังในชั่วโมงการทำงานของไทยสกายได้อย่างเด่นชัดว่า
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไทยหรือฮ่องกงต่างก็ไม่เป็นมืออาชีพด้วยกันทั้งคู่ นักการตลาดท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า
นั่นคือการตกอยู่ในสภาพความล้มเหลวของการบริหารงานที่ไม่เป็นระบบอันเนื่องมาจากการพิจารณาความสามารถของคนผิด
(JUDGEMENT OF TALENT)
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ใช้คนไม่เป็น
คีรียอมรับว่า เพราะความผิดพลาดของเขาจึงทำให้งานไม่บรรลุผลสำเร็จ "แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนฮ่องกงทำงานไม่เป็น
หรือคุณหญิงทำงานไม่ได้" คีรียังยืนยันในจุดนี้
ข้อผิดพลาดประการต่อมาก็คือ การเลือกรายการมาตอบสนองความต้องการของตลาดไม่ตรงตามรสนิยมคนไทย
"เพราะความที่เป็นคนฮ่องกง เขาจึงทำธุรกิจแบบคนฮ่องกง จะเรียกว่าเข้าไม่ถึงพฤติกรรม
หรือรสนิยมคนไทยก็ไม่น่าจะผิดนัก เพราะคนฮ่องกงส่วนใหญ่จะดูรายการหรือหนังจากยุโรป
เขาจึงคิดว่าคนไทยหรือคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยจะนิยมชมชอบรายการหนังทางยุโรปด้วยเช่นกัน
รายการต่าง ๆ และหนังจึงออกมาในรูปแบบนั้น ในขณะที่ไอบีซีจับทางถูกมาตั้งแต่ต้น
พยายามไล่ล่าซื้อลิขสิทธิ์มาจากอเมริกาเป็นส่วนใหญ่" แหล่งข่าวคนเดิมเล่าให้ฟังในประเด็นความผิดพลาดที่มาจากผู้บริหารชาวฮ่องกง
ซึ่งหมายรวมไปถึงการตัดสินใจผิดพลาดของคีรีที่นำคนฮอ่องกงเข้ามาบริหารงานแทนที่จะเป็นคนไทย
แต่เหตุผลเฉพาะหน้า ที่คีรีนำเอาคนฮ่องกงเข้ามาบริหารงานในไทยสกายนั้นนอกเหนือจากความเป็นเพื่อนกันแล้ว
ลึก ๆ คีรีมีความมุ่งหวังที่จะได้โนว์ฮาวจากคนเหล่านี้มากกว่าอย่างอื่น เพราะ
2 ใน 3 คนนี้เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านงานทีวีในฮ่องกง
"โลและเชงมาจากทีวีบี เขามีฝีมือ มีประสบการณ์จึงคิดว่าเขาจะตอบสนองคนต่างประเทศที่มาจากทั่วโลกได้มากกว่าคนไทย"
คีรีอธิบายให้เห็นแนวความคิดลึก ๆ ของเขา การเลือกรายการจึงออกมาเช่นนั้น
ข้อผิดพลาดประการต่อมา และดูเหมือนจะเป็นข้อที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นที่มาของปัญหาทั้งหลายทั้งปวงก็คือ
ตัวคีรีเองนั่นแหละ ที่ไม่ยอมกระจายอำนาจการบริหารออกไปให้คนอื่น ๆ แต่กับกุมการตัดสินใจเอาไว้หมดคนเดียว
"คีรีลงมาบริหารงานเอง เข้ามา DOMINATE งานในทุกส่วน แม้กระทั่งการเซ็นเช็คสั่งจ่ายเงินไม่ว่าจะเป็นจำนวนมากหรือน้อยเท่าไร
เขาต้องเป็นคนเซ็นเอง" อดีตพนักงานไทยสกายทีวีกล่าว
คีรีมีธุรกิจส่วนตัวมากมายหลายบริษัททั้งในเมืองไทยและต่างประเทศมากมาย
ในช่วงนั้นคีรีแบ่งเวลาอยู่เมืองไทยสัปดาห์ละไม่ถึง 3 วัน เมื่อเกิดปัญหาไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามจะต้องรอการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจากเขา
จึงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างล่าช้าไปหมด
"ผู้บริหารระดับสูงที่คีรีจ้างเข้ามานั่งบริหารงานไม่ว่าจะเป็นฮ่องกงหรือคุณหญิงต่างไม่มีการประสานและไม่ลงรอยกันอยู่แล้ว
จึงไม่มีใครกล้าตัดสินใจเมื่อเกิดเรื่องหรือปัญหาขึ้น ขณะเดียวกันคีรีเองก็ไม่มีการมอบหมายอำนาจเด็ดขาดไปที่คนใดหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
การแก้ปัญหาจึงเกิดความล่าช้าไม่ทันการ" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่งก็คือ การสั่งซื้ออุปกรณ์ติดตั้งเพื่อรับสัญญาณภาพจากห้องส่งสู่บ้านสมาชิก
การสั่งซื้อในขั้นต้นจะเป็นลักษณะของการสั่งซื้อมาเป็นล็อตใหญ่ ๆ แหล่งข่าวเล่าว่า
ช่วงต้นนั้น ฝ่ายเทคนิคของไทยสกายไม่มีความชำนาญมากพอ เมื่อลงมือทำงานกันจริง
ๆ จึงได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ถ้ามีตึกสูงบังคลื่น จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนจานรับให้หันไปในทิศทางที่จะรับคลื่นได้
เพราะหน้าจานมีขนาดเล็ก รัศมีแคบ ก้มเงยไม่ได้ 180 องศา ทางออกที่มีให้เลือกคือ
สั่งซื้อจานรับสัญญาณใหม่หมด โล้ะของที่สั่งมาแล้วทิ้งไป หรือเปลี่ยนช่างเทคนิคใหม่
เพราะไม่มีความสามารถพอ
ผู้บริหารที่มีอยู่ของไทยสกาย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ คนที่จะลงมาตัดสินใจมีอยู่คนเดียวคือ
คีรี ซึ่งไม่ค่อยจะมีเวลาให้เสียด้วย ปัญหาจึงคาราคาซังและกลายเป็นตัวที่สร้างผลกระทบในด้านการตลาดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้กระทั่งกรณีง่าย ๆ อย่างเช่น ภาพซ้อนไม่คมชัดเพราะคลื่นทับกันหรือใกล้เคียงกันกับคลื่นของไอบีซี
ทำให้สมาชิกของไอบีซีรับสัญญาณของไทยสกายได้ หรือเมื่อติดตั้งไทยสกายไปแล้วทำให้การรับสัญญาณภาพของทีวีช่องอื่นเคลื่อนไปด้วย
เหล่านี้ผู้บริหารระดับสูงที่คีรีแต่งตั้งไม่มีใครแก้ไขได้ ต่างต้องรอนายใหญ่ทั้งสิ้น
คีรียอมรับว่าเขาเองไม่ค่อยมีเวลาที่จะอยู่เมืองไทย เนื่องจากว่ามีกิจการในฮ่องกงต้องดูแลอีกหลายบริษัท
และเขาไม่คิดว่าจะเกิดปัญหามากมายขนาดนี้ โดยเฉพาะเรื่องสมาชิกไอบีซีสามารถรับภาพของไทยสกายได้
เพราะช่างเทคนิคของไอบีซีใช้ความพยายามในการตั้งจานรับคลื่นให้ตรงกับไทยสกายนั้น
คีรีถึงกับกล่าวว่า "ลักษณะเช่นนี้ในทางธุรกิจถือว่าไอบีซีไร้มารยาท"
นอกจากนี้ยังมีประเด็นปลีกย่อยเช่น เรื่องการคอรัปชั่นภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยการหาสมาชิก
หน่วยติดตั้งตามบ้าน หรือแม้แต่การซื้อรายการซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันภายในว่า
ผู้บริหารชาวฮ่องกงคนหนึ่งที่ดูแลเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์รายการจากต่างประเทศมีหุ้นร่วมกับตระกูลกาญจนพาสน์ในบริษัทเอ็ม
อี ไอ ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจการจัดรายการโทรทัศน์ อาทิ รายการกีฬา การประกวด
ฯลฯ ให้กับสถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่ของฮ่องกง คือ ทีวีบี และเอทีวี เอ็ม อี
ไอ เป็นตัวกลางในการซื้อรายการมาป้อนให้กับไทยสกายด้วย
"ผมรู้ว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอะไรบ้าง และได้พยายามที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น
แต่การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว มันต้องใช้เวลา"
คีรีกล่าว
ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ถึงวันนี้แล้วคีรียังคงจริงจังกับธุรกิจเคเบิลทีวีมากน้อยแค่ไหน
เคยมีผู้วิเคราะห์ถึงสไตล์การทำธุรกิจของเขาว่า นอกจากทำอะไรเล็ก ๆ ไม่เป็นแล้ว
ยังชอบการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทั้งยังไม่นิยมการลงทุนที่ต้องทุ่มเทเงินทองและเวลานาน
ๆ ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานที่อาจติดตัวมาจากวัฒนธรรมการทำธุรกิจแบบฮ่องกงก็ได้
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาถึงธุรกิจทั้งหมดของเขาในประเทศไทยแล้ว ไทยสกายไม่ใช่ธุรกิจหลักอย่างแน่นอน
หากแต่เป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทธนายง ซึ่งเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่เขากำลังใช้ความพยายามอย่างหนัก
ที่จะเอาชนะสภาวะที่อุตสาหกรรมเรียลเอสเตทกำลังซบเซาอย่างถึงที่สุด
ไม่ว่าเขาจะคิดอย่างไร แต่การตัดสินใจสละเรือลำนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
อย่างน้อยที่สุดก็ในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากจะซื้อหน้า ซึ่งคนที่มีภาพพจน์อหังการ์อย่างคีรีจะยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว
ปมเงื่อนที่มัดไทยสกายไว้อย่างยากที่จะถอนตัวออกไป ก็คือ สัญญาที่ทำไว้กับ
อสมท. ซึ่งมีข้อผูกมัดที่จะต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนอีก 18 ปีจนกว่าจะหมดอายุสัมปทานในปี
2555
การเช่าสัมปทานดำเนินกิจการเคเบิลทีวีของ อสมท. ทั้งไอบีซีและไทยสกายทีวีจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราที่แตกต่างกัน
ไอบีซีจ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท. เป็นระยะเวลา 20 ปีนับตั้งแต่เดือนตุลาคม
2532 ถึงกันยายน 2552 ในอัตราร้อยละ 6.5 ของรายได้ก่อนหักภาษีต่อปี แต่รวมแล้ว
20 ปีต้องไม่ต่ำกว่า 121 ล้านบาทหรือเฉลี่ยปีละ 6 ล้านบาท
ในขณะที่ไทยสกายแบ่งการจ่ายผลประโยชน์แลกกับสัมปทานออกเป็น 4 ช่วง ระหว่างเดือนมกราคม
2535 ถึงธันวาคม 2555 โดยในปีที่ 1-5 ต้องจ่ายให้ปีละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท
ปีที่ 6-10 ปีละไม่ต่ำกว่า 7.5 ล้านบาท ปีที่ 11-15 ปีละ 10 ล้านบาท และช่วง
5 ปีสุดท้ายก่อนหมดสัญญาต้องจ่ายให้ อสมท. ปีละ 12.5 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ
รวมเป็นเงินที่จะต้องจ่ายทั้ง 20 ปี 175 ล้านบาทเป็นขั้นต่ำ นอกเหนือจากการยอมให้
อสมท. เข้ามาถือหุ้นบริษัทสยามบรอดคาสติ้งร้อยละ 7 ของทุนจดทะเบียน
ภายใต้เงื่อนไขข้อตอบแทนเช่นนี้ไทยสกายจึงไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากต้องเดินหน้าหาทางแก้ไขกิจการให้ดีขึ้นต่อไป
เมื่อลงมือทำเองแล้วไม่ได้ดี ทางออกของคีรีก็คือ การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจให้เข้ามาช่วยกอบกู้ไทยสกายทีวี!!
ปลายปี 2535 ไทยสกายเพิ่มทุนจาก 100 ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาทและก่อรูปพันธมิตร
3 ฝ่ายขึ้น โดยให้ทางหนังสือพิมพ์วัฎจักรเข้ามาถือหุ้น 20% บริษัทมีเดียพลัสถือหุ้น
10% ตัวคีรีเองถือหุ้น 63% อีก 7% เป็นของ อสมท.
ขณะเดียวกัน คีรีก็เข้าไปถือหุ้นวัฎจักรซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
20% และได้รับตำแหน่งรองประธานกรรมการของวัฏจักรด้วย
ส่วนวัฏจักรซึ่งกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองของไทยสกายที่คีรีเป็นประธานกรรมการอยู่
ก็ส่ง ดร. สิงหา เจียมสิริเข้าไปเป็นรองประธานของไทยสกายด้วย
ก่อนหน้านี้ไทยสกายเคยตกเป็นข่าวว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าไปเทคโอเวอร์
บ้างก็ว่าเข้าไปถือหุ้นอยู่ 10% ข่าวดังกล่าวพัวพันไปถึงเรื่องไอเอ็นเอ็น
(ไอเอ็นเอ็นเป็นสำนักข่าวที่เกิดขึ้นมาจากการร่วมทุนระหว่างมีเดียพลัสกับสำนักงานทรัพย์สินฯ
ไอเอ็นเอ็นรายงายข่าวตลอด 24 ชม. ในรายการของเครือข่ายมีเดียพลัส 5 สถานี
คือ เอฟเอ็ม 94.5, 98, 99.5, 102.5 และ 107) เข้ามาเป็นผู้ทำข่าวให้กับไทยสกายด้วย
คีรีปฏิเสธข่าวนี้อย่างหนักแน่น และย้ำว่าการรายงานข่าวที่เกิดขึ้นในเคเบิลนั้นเป็นทีมงานของไทยสกายที่ผลิตรายการเองทั้งสิ้น
"เราเคยมีโครงการที่จะเข้าไปถือหุ้นในไอเอ็นเอ็นโดยคำแนะนำจากสำนักงานทรัพย์สินฯ
และเมื่อเราเข้าไปถือหุ้นในส่วนนี้แล้ว เราก็น่าจะใช้ประโยชน์จากจุดนี้ แต่ก็ยังไม่มีการตกลงกันว่าจะทำอย่างไร
ข่าวก็ออกไปเสียก่อน" คีรีกล่าว
การดึงวัฏจักรและมีเดียพลัสเข้ามาเป็นพันธมิตรในไทยสกาย คีรีหวังว่า จะใช้ความชำนาญของทั้งสององค์กรนี้เข้ามาช่วยในการบริหารงาน
ภายใต้โครงสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่นี้ สามผู้ร่วมทุนจะเป็นกลุ่มที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในแง่ของการมีสื่ออยู่ในมืออย่างครบวงจร
คือ สื่อสิ่งพิมพ์ (หนังสือพิมพ์วัฏจักร) วิทยุ (รายการในเครือข่ายของมีเดียพลัส)
และเคเบิลทีวี (ไทยสกาย) ซึ่งน่าจะเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี
ฝ่ายวัฏจักรซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องการที่จะขยายขอบเขตของการทำงาน
เพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้แข็งขึ้น อันจะส่งผลต่อการขึ้นลงของราคาหุ้นอีกด้วย
ส่วนมีเดียพลัสมุ่งหวังจะทำให้ครบวงจร แม้ว่ามีเดียพลัสจะเข้าประมูลรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง
ๆ ได้ แต่ก็มีความไม่แน่นอน ที่อาจมีการรื้อผังรายการเดิมทิ้งเมื่อครบอายุสัญญา
แต่ทว่าการเข้าร่วมถือหุ้นทำรายการในไทยสกาย ก็หมายถึง ความมั่นคงในการเข้าไปสู่รายการทีวีที่มีเดียพลัสตั้งใจ
จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับยุทธศาสตร์จับมือร่วมกันเดินนี้ ก็ต้องพิจารณาฝีไม้ลายมือของไทยสกาย
วัฏจักรและมีเดียพลัสกันเอาเอง !!!
การแก้ไขปัญหาลำดับต่อไปก็คือ การปรับรายการใหม่ ให้มีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับไอบีซีและสถานีโทรทัศน์ทั้ง
5 ช่อง คือ ช่อง 1 จะเป็นเรื่องข่าวและสารคดี ช่อง 2 เป็นรายการเอนเตอร์เทนและช่อง
3 เป็นรายการหนัง คีรีคาดว่าไทยสกายของเขาจะเพิ่มได้เป็น 5 ช่องในปี 37 นี้
"โปรแกรมเป็นหัวใจสำคัญของการตลาด หากไม่มีภาพที่แตกต่างจากโปรแกรมของคู่แข่งหรือทีวีทั้ง
5 ช่อง ผู้คนก็จะไม่สนใจเป็นสมาชิก ดังนั้น สิ่งที่การตลาดจะต้องแกไขก่อนส่วนอื่น
คือ ต้องปรับปรุงรายการ เช่นรายการสารคดีที่แสดงให้เห็นถึง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นโลกที่
3 เน้นรายการสิ่งแวดล้อม หรือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยโบราณ หรือรายการข่าวที่ไม่จำเป็นต้องออกข่าวพร้อมทีวีช่องอื่น
และเป็นการรายงานข่าวที่เจาะลึกลงไปในรายละเอียดของประเด็นปัญหานั้นมากกว่าที่จะเป็นเพียงการรายงานให้ทราบเท่านั้น"
สายัณห์ เล็กอุทัย รองผู้จัดการอาวุโสฝ่ายโปรแกรมของไทยสกายกล่าว
ว่ากันตามจริงแล้ว โปรแกรมของไทยสกายและไอบีซีนั้นมีความแตกต่างกันมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
คือ ไทยสกายซื้อลิขสิทธิ์ รายการทางยุโรปและจีนเป็นหลัก ในขณะที่ไอบีซีซื้อลิขสิทธิ์
ทางอเมริกา
คีรีเสริมว่า การทำรายการสดสัมภาษณ์ใครก็ตาม เราสามารถใช้สื่อ 3 สื่อไปพร้อม
ๆ กัน หากใครต้องการเห็นภาพให้ดูเคเบิล ใครต้องการอ่านให้อ่านหนังสือพิมพ์
และใครที่ไม่มีเวลาทั้งอ่านและดูทีวีก็สามารถฟังจากวิทยุได้ จุดนี้สามารถสร้างความแตกต่างและกลายเป็นจุดขายได้
ส่วนด้านคลื่นความถี่ คีรีแก้ปัญหาคลื่นความถี่ที่ใกล้เคียงกันกับคู่สัมปทานของเขาด้วยการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ
จนได้คลื่นใหม่ที่ไม่รบกวนคลื่นสถานีโทรทัศน์ทั้ง 5 ช่องเมื่อติดตั้งจานไมโครเวฟของไทยสกายแล้ว
นอกจากนี้การมีตึกสูงใน กทม. ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นอุปสรรคในการส่งคลื่นสัญญาณไปยังจานรับตามบ้าน
คีรีแก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งสถานีส่งทอดสัญญาณ (RELAY STATION) เพิ่ม โดยยังใช้ตึกทานตะวันเป็นสถานีแม่ข่ายคงเดิม
ขณะเดียวกันด้านการหาสมาชิกเพิ่มในต่างจังหวัดนั้น หาก อสมท. เปิดโอกาสให้มีการประมูลสัมปทานกันอีกครั้งไทยสกายก็มีความสนใจที่จะเข้าทำอย่างแน่นอน
ส่วนจะเสียเปรียบไอบีซีตรงที่ฝ่ายไอบีซีมีดาวเทียมไทยคมเป็นจุดแข็งในการก้าวรุกไปข้างหน้านั้น
คีรีบอกว่าบริษัทในเครือของธนายง ก็เป็นผู้ได้รับสัมปทานดูแลบริหารภาคพื้นดินให้กับดาวเทียมวีแซท
ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของการสื่อสารแห่งประเทศไทยอยู่ จุดนี้จึงไม่น่าจะเป็นจุดที่เสียเปรียบสำหรับไทยสกาย
นอกจากนี้หากพลาดจากดาวเทียมดวงนี้ ก็ยังมีดวงอื่น ๆ ที่โคจรอยู่ในรัศมีที่ส่งผ่านมายังจังหวัดต่าง
ๆ ในเมืองไทย
ไทยสกายนั้น เริ่มต้นจากความต้องการเข้าสู่ธุรกิจสื่อและการบันเทิงของคีรีเอง
จากตอนต้นที่ทำท่าว่าจะไปได้สวย แต่แล้วก็เหลวด้วยปัญหาการรวมศูนย์อำนาจการบริหารมากเกินไป
และการแบ่งฝักฝ่ายในกลุ่มผู้บริหาร ตอนที่บริหารฝ่ายเดียวนั้น ยังมีปัญหา
บัดนี้มีผู้ถือหุ้นใหม่มาร่วมอีกสอง ต่างฝ่ายต่างก็มีเป้าหมายของตน ต่างคนต่างก็มีส่วนในการบริหารตามความถนัด
หากไม่ทะเลาะกันเสียก่อน ไอบีซีก็ยังคงไม่ต้องเดียวดายอยู่ในธุรกิจเคเบิลทีวีอีกต่อไป!!!