|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2551
|
 |

ไม่ใช่แค่ยี่ห้อ ตึกเก่า หรือตราครุฑพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ที่ "ตั้งโต๊ะกัง" รักษาเอาไว้ได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดกลับเป็น "รากเหง้าของตระกูลค้าทอง" ที่ส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่นแม้เปลี่ยนผ่านมือมาแล้ว 140 ปี
ตึก 7 ชั้นทรงโบราณ ปากซอยวานิช ถนนมังกร สร้างโดยฝีมือช่างชาวฮอลันดาและตกแต่งภายในโดยช่างชาวเซี่ยงไฮ้ หน้าร้านมีตราครุฑขนาดใหญ่ยืนผงาดอยู่บนแผ่นป้ายที่ตวัดด้วยตัวอักษรไทย ขนาบคู่กันกับตัวอักษรจีนอ่านเป็นใจความว่า "ตั้งโต๊ะกัง"
คุณลักษณะของตึกและป้ายข้างต้น ไม่เพียงแต่ยังคง เอกลักษณ์จากคำบอกเล่าของเจ้าของที่เป็นรุ่นหลานของผู้ก่อสร้างตึกว่าสามารถรักษาเค้าโครงของเดิมไว้ได้แทบทั้งหมดเท่านั้น
ข้าวของภายในตึกซึ่งเป็นทองคำที่รวมกันแล้วหนักกว่าหนึ่งหมื่นบาทตีเป็นมูลค่าเงินตรานับร้อยล้าน วางเรียงรายกันเต็มตู้กระจก ซึ่งเป็นสินค้าเพียงหนึ่งเดียวของตระกูล "ตันติกาญจน์" ที่สืบทอดกันมาถึง 4 ช่วงอายุและยึดถือกิจการขายทองคำรูปพรรณกันมาตั้งแต่ช่วงของรัชกาลที่ 5 นั้นยังอยู่ครบถ้วนเช่นเดียวกัน
แม้จะไม่มีการเก็บเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ร้านทองตั้งโต๊ะกังนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงปีพุทธศักราชใด แต่เมื่อสืบหลักฐานย้อนหลังจากทั้งคำบอกเล่าของคนรุ่นหลัง จากข้าวของเครื่องใช้ที่ยังปรากฏและจับต้องได้จนถึงปัจจุบันก็พบข้อบ่งชี้ที่เชื่อได้ว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ร้านทองชื่อเดียว และมีเพียงสาขาเดียวในเมืองไทยนั้นเปิดขายอยู่ที่ย่านสำเพ็ง หรือเยาวราชมาแล้วกว่า 140 ปี
รากเหง้าของตั้งโต๊ะกังเริ่มต้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
โต๊ะกัง แซ่ตั้ง หรือตั้งโต๊ะกัง หนุ่มชาวจีนที่ยึดถืออาชีพเป็นช่างทำเงินฝีมือดี ลี้ภัยจากจีน หนีภัยสงครามโดยทางเรือ มุ่งหน้าสู่เมืองสยามเพื่อหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในภายหลังลูกหลานต่างเล่าขานกันสืบต่อมาว่า โต๊ะกังได้สะสมเงินจากการรับจ้างใช้เป็นเงินทุนรอนสำหรับเปิดร้าน รับจ้างทำทองได้ในท้ายที่สุด
จากเงินรับจ้างกลายเป็นเจ้าของกิจการรับทำทองขนาดเล็ก ร้านขนาดหน้ากว้างไม่กี่เมตรบนถนนวานิชของโต๊ะกัง มีเพียงโต๊ะไม้ขนาดเล็กตั้งไว้ในร้านที่ตั้งตามชื่อและนามสกุลของตัวเองว่า "ตั้งโต๊ะกัง" เพื่อใช้เป็นโต๊ะรับลูกค้าเพื่อเจรจาพาทีสื่อสารก่อนรับจ้างทำทองจากพ่อค้าและชาวบ้านในสยามด้วยลวดลายตามที่ลูกค้าต้องการ โดยเฉพาะลูกค้าที่เห็นคุณค่าของการแลกเปลี่ยนเงินตราให้เป็นทอง และใช้สัญลักษณ์ค้างคาวเป็นตราสินค้า "ตั้งโต๊ะกัง" จน กระทั่งในเวลาต่อมาตั้งโต๊ะกังสามารถขยายจำนวนของช่างทองให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
การเห็นคุณค่าของทองมากกว่าธนบัตร เหรียญเงิน หรืออัญมณีของชาวสยามในยุคนั้นแทบไม่ต่างอะไรกับคนอีก หลายสัญชาติในโลกนี้ ว่ากันว่าไม่มีสิ่งของอื่นใดในโลกนี้ที่ จะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้รวดเร็วยิ่งกว่าทองคำอีกแล้ว
แม้จะนับคู่แข่งสำคัญทั้งอสังหาริมทรัพย์หรือหลักทรัพย์ เมื่อเอามาเทียบแข่งกับทองคำก็ไม่มีผลแต่อย่างใด เพราะทั้งที่ดินและหลักทรัพย์ล้วนแต่มีเวลาเป็นศัตรูสำคัญ ที่เมื่อจับมาแข่งมูลค่ากับทองคำ ก็จำต้องยอมจำนนและพ่ายแพ้ทองคำทุกครั้งไป
ยุคของทองเฟื่องฟูมาโดยตลอดนับตั้งแต่มนุษย์ได้รู้จัก "ทองคำ" แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีมานี้ภาวะของอุตสาหกรรม ทองถูกผลักดันให้ต้องขึ้นราคาต่อหน่วยทั้งอัตราการซื้อขายในประเทศอย่างออนซ์ (oz) ที่เทียบได้ที่ 31 กรัมหรือ 2 บาท หรือเป็นอัตราในประเทศอย่างจำนวนสลึงหรือ 1 บาท จนราคาพุ่งทะยานทำสถิติกันตลอดทั้งปีก็ตาม แต่ทองก็ยังคงคุณค่าของการแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าเงินได้เร็วเช่นเคย และการซื้อขายทองก็ไม่เคยจะเลือนหายไป
จากรายงานของ World Gold Council Media Centre หรือ WGC เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ทองคำเคยมีสิถิติทำราคาต่อ 1 ออนซ์ สูงสุดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2523 อยู่ที่ 850 ดอลลาร์สหรัฐ แต่สถิตินั้นถูกทุบไปเป็นที่เรียบร้อย แล้วเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา โดยทำสถิติราคาต่อออนซ์ อยู่ที่ 865.35 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์การค้าทอง
เมื่อคิดคำนวณแล้วก็พบว่ามูลค่าของทองคำที่สูงขึ้นนั้นสูงขึ้นถึง 37 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมในปีก่อนหน้า ซึ่งขณะนั้นราคาทองคำอยู่ที่ 631 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และจนถึงบัดนี้ราคาทองคำต่อออนซ์ก็ยังไม่มีทีท่า ว่าจะหยุดทะยานเพื่อทำสถิติ อันเนื่องจากเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัว ลงอย่างหนักหรือแม้แต่สถานการณ์ทางการเงินหลากหลาย ด้านที่ไม่นิ่ง
ดังนั้นเมื่อทองเป็นสินทรัพย์ในมือที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้รวดเร็วที่สุด การที่ค่าเงินอ่อนค่าทองก็กลับแข็งค่า ทางราคาขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงขนาด WGC ต้องใช้คำว่า "ราคาทองคำไม่เคยจะหยุดทำสถิติอยู่ตลอดเวลา" กันเลยทีเดียว
แม้ว่าราคาทองจะพุ่งสูงขึ้นสักเท่าไร แต่ไม่น่าเชื่อว่าในช่วงหลายปีมานี้สถิติการซื้อทองกลับไม่ได้ลดลงอย่างที่คิด ปีที่ผ่านมา WGC ยกให้เป็นปีหมูทองโดยเฉพาะในประเทศ จีน เพราะคนจีนซื้อทองเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมาถึง 31% เมื่อเทียบกับปี 2549 และเมื่อคิดมูลค่ารวมของการซื้อขายทองทั่วโลกแล้ว ปีที่แล้วปีเดียวมูลค่าการซื้อขายทองทั้งปีมากถึง 17.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐมากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อนหน้านี้
สถานการณ์ของการบริโภคทองคำนั้นสอดคล้องกันในทุกๆ ภูมิภาคแต่จะโดดเด่นสุดในจีน อินเดีย ประเทศในแถบเอเชียและตะวันออกกลาง ส่งผลทำให้สองในสามของผู้ผลิตจิวเวลรี่รายใหญ่ต้องย้ายฐานมุ่งหน้ามาให้ความสำคัญ กับตลาดในประเทศที่กำลังพัฒนากันมากขึ้น
ประเทศบางประเทศ อาทิ ตุรกี อินเดีย จีน และไทย เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ WCG ระบุไว้ว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่น่าจับตามองอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมทองคำโลก โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวที่เข้าไปยังประเทศเหล่านี้ก็มักจะนิยมสอยทองคำติดคอกลับบ้านไปด้วยไม่น้อย
เมื่อย้อนกลับมามองสถานการณ์การซื้อขายทองคำในไทยซึ่งติดอันดับตลาดทองคำเกิดใหม่ในสายตาของใครอีกหลายคน ต้องยอมรับว่าถนนเยาวราชที่ชาวต่างชาติมักเรียกขานกันว่า "golden street" ถือเป็นถนนสายหลักที่เกิด การซื้อขายทองคำกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
แต่เดิมนั้น "เยาวราช" ไม่ได้เป็นถนนสายหลักในการซื้อขายทองคำของประเทศไทยดังเช่นปัจจุบัน แต่ด้วยเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปจากคลองหลายสายถูกถมกลายเป็น ถนนลูกรัง ถนนดินเรียบ จนเป็นถนนหลายเลนอย่างที่เห็น ทำให้จากที่ร้านทองหลายร้านอยู่ในถนนวานิชด้านในปัจจุบัน เป็นสำเพ็ง ขยับออกมาอยู่ด้านหน้าบนถนนเยาวราช อวดป้ายสีสันสวยงามทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะผู้คนพลุก พล่านกว่าถนนวานิชมากโข
ถนนวานิชเคยเป็นถนนสายหลักเมื่ออดีต เพราะอยู่ใกล้กับท่าน้ำราชวงศ์ต้องอุทิศตนให้กับการค้าขายระหว่าง พ่อค้าที่นำเรือมาเทียบท่าทั้งจากพ่อค้าชาวจีน ฝรั่งหรือพ่อค้า ในภูมิลำเนาอื่นของไทย และหมายถึงการค้าเงินและทองคำ ด้วยในเวลาต่อมา
ตั้งโต๊ะกังซึ่งเติบโตบน ถนนวานิช ถนนสายหลักของ การค้าทองในอดีตอย่างไร ปัจจุบันก็ยังอุทิศตนให้กับถนนวานิชเพื่อการค้าทองไม่ท้อถอย แม้จะเคยย้ายที่ตั้งมา 1 ครั้ง โดยเลือกที่ตั้งใหม่ ถัดจากเดิมไม่กี่ร้อยเมตรแต่ก็ยังอยู่กลางถนนวานิชเช่นเคย ขณะที่ร้านทองคำที่เปิด ใหม่อายุเกิน 50 ปีหรือต่ำกว่านี้กลับมารวมอยู่ในที่เดียว อย่างถนนเยาวราชกันแทบทั้งสิ้น รวมถึงร้านฝั่งตรงกันข้ามที่ปิดกิจการและเปลี่ยนผ่านมือตึกรุ่นเก่าคราวเดียว กันให้เป็นสำนักงานสาขาของธนาคารที่ตั้งประชันหน้าตราครุฑกับตั้งโต๊ะกังอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
สำหรับความรุ่งเรืองในอดีตที่ทองเคยมีราคาเพียงแค่ บาทละไม่กี่ร้อยหรือเพียงไม่กี่พันบาท อาจไม่สามารถเทียบกับสถานการณ์ทองที่ราคาพุ่งสูงเกินหนึ่งหมื่นบาทอย่างเช่นทุกวันนี้
ปริมาณการซื้อที่ลดลงไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะหลาย องค์กรหลายเจ้าของสินค้ายกเลิกโปรโมชั่นการซื้อแล้วแจกทองคำ เอาของมาแลกชิงโชคด้วยทองคำหรือใช้ทองคำเป็น ของกำนัล แจกให้กับพนักงานในบริษัท เพราะเห็นว่าเป็นของที่เก็บไว้แลกเงินได้ในโอกาสที่ต้องการในทันที เผื่อเหลือ เผื่อขาด ชักหน้าไม่ถึงหลัง พนักงานก็ยังเอาทองเข้าไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้
แม้มูลค่าการซื้อทองจะยังอยู่ในภาวะที่ยังประคับประคองร้านค้าเอาไว้ได้ เพราะราคาทองสูงขึ้นแม้จำนวนการซื้อจะน้อยแต่ก็ได้จำนวนเงินที่กลับมามากกว่า จากอานิสงส์ทองค้างสต็อกที่เก็บเอาไว้ก่อนหน้าราคาจะพุ่งสูง
แต่ความหอมหวานในอดีตหากเพียงแต่ลุ่มหลงไม่มอง ถึงโลกที่เปลี่ยนไป สุดท้ายก็อาจจะกลายเป็นดาบสองคมกลับมาเชือดเฉือน ไม่อาจทำให้องค์กรหรือหน่วยงานนั้นๆ เจริญได้ในภายภาคหน้า
ไชยกิจผู้สืบทอดกิจการของตั้งโต๊ะกังคนปัจจุบันบอกว่า เมื่อสิ้นยุคโต๊ะกัง แซ่ตั้ง เต็กกวง แซ่ตั้ง หรือเกษม แซ่ตั้ง บุตรชายซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของเขาก็รับสืบทอดกิจการ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เต็กกวง เจ้าของยี่ห้อ "ตั้งโต๊ะกัง" เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองในพระบรมราชูปถัมภ์พร้อมพระราชทานตราตั้งให้ด้วยและพระราชทานตราครุฑซึ่งประดิษฐานไว้ที่ข้างฝาของร้านจนถึงทุกวันนี้
โดยในยุคของปู่เต็กกวงของเขานี่เองที่ได้เกิดตึกร่วมสมัยก่อสร้างและตกแต่งโดยช่างชาวต่างชาติที่ว่า นับจนถึงปัจจุบันตึกเก่าก็ล่วงเข้าเกินปีที่ 80 ไปแล้ว และเมื่อล่วงเข้าสู่ทายาทรุ่นที่ 3 อย่าง ร.ต.อรรถสาร ตันติกาญจน์ บิดาของ เขากับนามสกุลใหม่ที่เลือกเปลี่ยนมาใช้ตามสมัยในภายหลัง และเปลี่ยนผ่านมาถึงเขาในฐานะของเหลนตั้งโต๊ะกัง
ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ยาวนานที่ก่อตั้งร่วมกันมาระหว่างผู้เป็นทวด ปู่ พ่อ และตัวเขา ไม่เคยลบเลือนหายไป ไม่มีรุ่นไหนที่ไชยกิจบอกว่าจะหยุดคิดประคอง ธุรกิจทองคำของตั้งโต๊ะกังเอาไว้
ทุกยุคทุกสมัยมักมีผลกระทบทำให้ต้องคิดอยู่เสมอว่า หากขายกิจการทองทิ้งแล้วหันหลังให้ธุรกิจนี้ก็คงจะไม่ลำบากมากนัก แต่ทุกครั้งก็มักจะเลิกล้มความคิดนี้ไปอยู่เสมอ เหตุผลสำคัญก็คือ รากเหง้าทั้งหมดที่เคยสั่งสมกันมา ยาวนานจะหายไปฉับพลันนั่นเอง
อุปสรรคมักจะเข้ามาขัดขวางอยู่เสมอแต่ทุกครั้ง ตั้งโต๊ะกังก็ผ่านพ้นและอยู่รอดมาได้ยาวนาน 140 ปี
"เราไม่คิดจะย้ายไปอยู่ข้างนอกเหมือนคนอื่นเขาเพราะทุกวันนี้เราอยู่ได้ด้วยชื่อ ด้วยคุณภาพ ลูกค้าเก่าแก่มักเลือกเราก่อนทุกครั้ง หลายคนบอกปากต่อปากกันไป แม้ ค่ากำเหน็จของเราแพงกว่าคนอื่นเขา แต่ทำไมเราถึงอยู่ได้ นั่นต้องถามคนที่เขาตั้งใจมาซื้อของที่นี่ ต้องเดินลงถนนเยาวราช แล้วเดินเข้าซอยมาที่ร้านนี้ เพราะอะไร?" ไชยกิจกล่าวเชิงตั้งคำถามเอาไว้ในตอนหนึ่งที่ "ผู้จัดการ" ไปพบเขาในครั้งที่สองถึงร้านทองตั้งโต๊ะกัง
ตลอดระยะเวลาการเฝ้ายืนมองผู้คนที่เดินผ่านประตูบานใหญ่ที่หนักเสียจนต้องใช้กำลังแขนแทบทั้งหมดผลักหรือ ดึงจึงจะเปิดให้ลำตัวเดินผ่านเล็ดลอดเข้ามาด้านในห้างทองติดเครื่องปรับอากาศของตั้งโต๊ะกัง
"ผู้จัดการ" เห็นทั้งผู้คนที่ตั้งใจเข้ามาเลือกลายทองคำของตั้งโต๊ะกังที่ทั้งทำด้วยมือของช่างทอง หรือใช้เครื่องมือช่วยให้ลวดลายสวยงามยิ่งกว่าเดิม หรือแม้แต่เลือก ที่จะนำทองกลับมาแลกเป็นเงินสดหรือเลือกเปลี่ยนลวดลายของเดิมกับของใหม่ที่ถูกใจกว่า
ตั้งโต๊ะกังมีพนักงานขายเป็นชายแทบทั้งหมด พนักงานบางคนอยู่กับตั้งโต๊ะกังมานานถึง 20 ปี โดยรับหน้าที่ เป็นพนักขายมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน มีเพียงพนักงานหญิง ไม่กี่ชีวิตทำหน้าที่เจ้าหน้าที่บัญชี โดยที่ไชยกิจเป็นผู้ควบคุม บัญชีและแจกจ่ายทองให้กับช่างทองฝีมือดีทั้งหมด 4 ชีวิตที่พักแบบอยู่กินฟรีที่บริเวณชั้น 3 ของตัวอาคาร
พนักงานขายท่าทางคล่องแคล่วหยิบทองออกจากกระบะไม้รูปร่างเหมือนถาดก้นตื้นมีผ้ากำมะหยี่สีดำคลุมถาดนั้นเอาไว้ออกมาให้ลูกค้าเลือกลายที่ต้องการ
ทั้งต่างหู สร้อยคอ กำไล ปิ่นปักผม แหวนทองคำ สารพัดลายถูกลูกค้าเลือกชมก่อนพนักงานขายจะทำการกดเครื่องคิดเลขคำนวณค่าทองบวกค่าแรงของช่างที่เรียกว่า ค่ากำเหน็จ เสร็จแล้วก็เปิดโอกาสให้ลูกค้าต่อรองมูลค่าของทอง โดยลดหย่อนได้เฉพาะค่ากำเหน็จเท่านั้นสำหรับค่าทอง มักเป็นราคาที่กำหนดเอาไว้ตายตัวตั้งแต่ต้น
โดยพนักงานขายจะใช้เวลาอรรถาธิบายถึงความเหนื่อยยากของช่างทองที่ต้องรับผิดชอบไปกับทองที่สูญหายไประหว่างการทำลวดลายของสินค้าที่วิจิตรตรงหน้านั้น ก่อนลูกค้าจะเข้าใจและได้ราคากลางที่ยอมรับได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นวนซ้ำๆ กันในร้านทองแห่งนี้
ตั้งโต๊ะกังขายทองคำรูปพรรณหลากหลายลาย แต่เอกลักษณ์สำคัญที่ไชยกิจภูมิใจแนะนำว่าเป็นต้นตำรับที่ไม่เคย หายไปจากร้านตั้งโต๊ะกัง เห็นจะเป็นความนุ่มของสร้อยคอ ที่ไม่แข็งกระด้างเวลาสวมใส่ หากลูกค้าทดลองปล่อยสร้อยคอ ทองคำทุกขนาดน้ำหนักลงบนโต๊ะ สร้อยทองจะค่อยๆ ขดเป็นวงกลมเหมือนงูขด แทนที่จะแข็งกระด้างไม่เป็นรูปร่าง
ไชยกิจบอกว่านี่แสดงให้เห็นถึงความประณีตของเขา ผู้ดูแลกิจการและช่างทองที่สืบทอดกันมา ทองทุกบาทที่หลอมแล้วส่งต่อให้ช่างทองเพื่อเป็นสร้อยทอง หลังจากเสร็จ ขั้นตอนการทำเป็นสร้อยรูปทรงหลากหลายแล้ว
ช่างทองที่อายุมากถึง 70 ปี หรือช่างทองที่สืบทอด จากผู้เป็นพ่อ ปัจจุบันวัย 27 ปีมีดีกรีถึงปริญญาตรีและช่างทองเก่าแก่ของทางร้านอีกหลายชีวิตจะทำการตะไบทองเพื่อทำให้เหลี่ยมมุมของทุกห่วงของสร้อยนั้นเป็นอิสระซึ่งกัน และกัน เมื่อนำมาวางสร้อยถึงได้ขดทำมุมเข้าหากันอย่างอิสระนั่นเอง
เมื่อหลายปีก่อนไชยกิจและครอบครัวตัดสินใจปรับปรุงชั้น 4 และ 6 ของตัวตึกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของเก่า โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์เครื่องไม้เครื่องมือในการทำทอง ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของช่างทองนับร้อยชีวิตในยุคอดีตที่ตั้งโต๊ะกังเคยรุ่งเรืองยิ่งกว่าปัจจุบัน และสิ่งของตกทอดตั้งแต่ รุ่นทวด ปู่ พ่อและรุ่นเขา พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและไทยเดินผ่านชั้น 1 ขึ้นชั้น 2, 3 ไปยังชั้น 4 และ 6 เพื่อชมเครื่องไม้เครื่องมือในการทำทองของร้านได้โดยไม่คิดเงินแต่อย่างใด
ส่วนหนึ่งเพื่อตอกย้ำให้เห็นความยาวนานของตั้งโต๊ะกัง ที่ผ่านมา โดยให้ข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมดเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราว
ต่อให้อดีตของตั้งโต๊ะกังเคยรุ่งเรืองแต่ในช่วงที่ผ่านมาก็มีช่วงเวลาที่ไม่หอมหวานปะปนอยู่เสมอ หลายครั้งผู้สืบทอดกิจการต้องคิดถึงการประคองธุรกิจให้อยู่รอด ทั้ง ประสบการณ์ที่ยาวนานของการดำเนินธุรกิจและความประณีต ในการทำลวดลายทองที่ตอกยี่ห้อตั้งโต๊ะกังไว้ที่ตัวสินค้าทุกชิ้น ตกเป็นมรดกสู่ทุกรุ่นและช่วยสั่งสมให้ธุรกิจนี้อยู่รอดไปได้ แม้จะต้องฝ่าฟันธุรกิจทองคำที่ยังไม่เห็นทีท่าว่าจะหยุดนิ่งได้อีกเมื่อไรก็ตามที
นี่คือเรื่องราวของร้านทองที่ได้ชื่อว่าสืบทอดมายาว นานเกินร้อยปีที่ชื่อ "ตั้งโต๊ะกัง"
|
|
 |
|
|