|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

SAPPORO Space Barley กลายเป็น Talk of the town ไปพร้อมกับการจารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเบียร์ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ดื่มกันอย่างแพร่หลายมาแต่อดีตกาล
แนวคิดต้นกำเนิดของ Space Barley ไม่ได้อุบัติขึ้นอย่างไร้แรงโน้มถ่วงเพียงแค่การนำข้าวบาร์เลย์ที่บ่มเพาะได้จากอวกาศกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเบียร์อวกาศ (Space Barley) ล็อตแรก ของโลกเท่านั้น แต่ได้เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นเข้ากับตรรกะของการเตรียมความพร้อม สำหรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ในห้วงอวกาศภายในอนาคตอันใกล้
หัวข้อวิจัย "การศึกษาผลกระทบของความ เครียดจากสิ่งแวดล้อมที่มีต่อข้าวบาร์เลย์" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยเกี่ยวกับความสามารถในการปรับตัวและวงจรชีวิตของพืชที่ปลูกในอวกาศของ Dr.Manabu Sugimoto รองศาสตราจารย์ประจำสาขา Cytomolecular Biochemistry แห่งมหาวิทยาลัย Okayama ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของ ประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้รับความสนใจจากบริษัท Sapporo Breweries ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของญี่ปุ่น อันนำไปสู่การวิจัยร่วมกันตั้งแต่ปี 2006
หนึ่งในนโยบายพื้นฐานที่ทำให้ Sapporo Breweries ดำรงอยู่ได้ในแถวหน้าของตลาดเบียร์ใน ญี่ปุ่นคือการให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นับแต่ก่อตั้งมากว่า 132 ปีโดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์ของข้าวบาร์เลย์และฮอพส์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต
การปรับปรุงพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ที่ได้มาจากการชนะการประกวดในอเมริกาเมื่อปี 1940 เป็นบทเริ่มต้นในยุคก่อนสงครามโลกซึ่งเทคโนโลยีและเครื่องมือในญี่ปุ่นยังล้าหลังอยู่นั้น กลายเป็นความพยายามแบบมาราธอนที่มาประสบผลสำเร็จในปี 1978 ได้ข้าวบาร์เลย์สายพันธุ์ Haruna Nijo เรียกได้ ว่าเป็น Miracle Barley ที่เติบโตรวดเร็วใช้ระยะเวลา ปลูกสั้นและให้เบียร์รสชาติดี ซึ่งปัจจุบันใช้ผลิตเบียร์ Sapporo รสละเมียดและได้นำมาใช้ในการวิจัยครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ Sapporo Breweries ยังส่งเสริม เกษตรกรในละแวกใกล้เคียงโรงงานผลิตเบียร์ Sapporo ที่ตั้งกระจายทั่วประเทศญี่ปุ่นให้ปลูกข้าวบาร์เลย์สายพันธุ์ Haruna Nijo และรับซื้อกลับในราคาดีซึ่งสะท้อนบทบาทเกื้อกูลชุมชนในระดับท้องถิ่น
สอดคล้องกับการวิจัยดังกล่าวความจำเป็นในลำดับถัดไปในการนำ Haruna Nijo ขึ้นไปทดลอง ปลูกในอวกาศนั้นต้องอาศัยห้องปฏิบัติการในยานอวกาศ ซึ่งในขณะนั้นห้องทดลองของญี่ปุ่นที่ใช้ชื่อว่า Kibo 1, 2 ยังไม่ได้นำขึ้นไปประกอบในสถานีอวกาศ นานาชาติ (International Space Station)
แต่ด้วยความร่วมมือของ Dr.Manabu Sugimoto กับ Institute of Biomedical Problems of the Russian Academy of Sciences (IBMP) การทดลองครั้งนี้เริ่มต้นจากการนำเมล็ดข้าวบาร์เลย์ สายพันธุ์ Haruna Nijo ขึ้นไปเก็บรักษาในอวกาศเป็นระยะเวลา 5 เดือน จากนั้นจึงนำเมล็ดส่วนหนึ่ง ไปปลูกลงแปลงเพาะชำภายในห้องปฏิบัติการของรัสเซียบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งประกอบเสร็จเรียบร้อยไปก่อนหน้านั้นและนำส่วนที่เหลือกลับมาปลูกที่ญี่ปุ่นเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ
หลังจากที่ต้นกล้า Haruna Nijo แทงยอดขึ้นมาแล้วเจริญเติบโตภายในสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นเวลา 28 วัน จึงนำกลับมาปลูกลงแปลงทดลองที่ Bioresources Research & Development Department ของ Sapporo Breweries ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัด Gumma ห่างจากมหานครโตเกียวไปทาง ตะวันตกเฉียงเหนือราว 100 กิโลเมตร
ข้อสรุปเบื้องต้นจากการเปรียบเทียบผลการทดลองกับต้นกล้า Haruna Nijo ที่ปลูกบนพื้นโลกพบว่าข้าวบาร์เลย์สามารถเจริญเติบโตได้ภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงในอวกาศโดยมีขนาดของต้นและจำนวนเมล็ดข้าวบาร์เลย์ไม่แตกต่างจากที่ปลูกบนโลก นอกจากนี้ยังพบว่ามีเอนไซม์พืชบางชนิดสูงกว่าข้าวบาร์เลย์ที่นำกลับมาปลูกบนพื้นโลกโดยปราศจากนัยสำคัญทางสถิติ
ขณะนี้ Dr.Sugimoto กำลังศึกษาถึงผลกระทบของสภาวะแวดล้อมในอวกาศที่มีต่อข้าวบาร์เลย์ในระดับยีนส์ที่ศูนย์ทดลองของมหาวิทยาลัย Okayama เพื่อสรุปผลวิจัยอย่างละเอียดซึ่งกำลังเป็นที่สนใจและเฝ้าติดตามของนักวิจัยจากทั่วโลกเนื่องจากเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกธัญพืชในอวกาศ
ในขณะเดียวกันมีรายงานจากรัสเซียว่า มันฝรั่งที่ปลูกได้ในอวกาศไม่สามารถนำไปผลิตเป็น Vodka ได้ ดังนั้นหากสามารถผลิตเบียร์จากข้าวบาร์เลย์ได้ในสถานีอวกาศแล้ว มีความเป็นไปได้ที่เบียร์จะกลายเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดแรกที่บรรจุในเมนูเครื่องดื่ม สำหรับผู้ที่ขึ้นไปใช้ชีวิตในอวกาศ แม้ว่าปัจจุบันไม่อนุญาตให้เสิร์ฟเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ในระหว่างเดินทางสู่อวกาศก็ตามที
เมล็ดข้าวบาร์เลย์ที่เก็บเกี่ยวจากต้นกล้า Haruna Nijo ซึ่งนำกลับมาจากอวกาศ จึงถูกนำไปทดลองผลิตเป็นเบียร์อวกาศเป็นครั้งแรกของโลกที่ใช้วัตถุดิบเป็นเมล็ดข้าวบาร์เลย์ที่ปลูกในอวกาศ 100% ภายใต้ชื่อ SAPPORO Space Barley ซึ่งเป็น Unique Brand ที่มีระดับแอลกอฮอล์ 5.5%
กระนั้นก็ตามด้วยกระบวนทัศน์ของ Sapporo Breweries ที่ผลิตเบียร์อวกาศล็อตแรกเพียง 100 ลิตร เพื่อวัตถุประสงค์สำหรับการทดลองจึงไม่ได้ทำการตลาดจัดจำหน่ายหากแต่จะจับฉลากเชิญผู้โชคดีที่พำนักในประเทศญี่ปุ่น 60 ท่าน (30 คู่) เข้าร่วมอีเวนต์พิเศษร่วมดื่ม SAPPORO Space Barley ที่โรงงานผลิตเบียร์ Sapporo ทั้ง 6 แห่ง (แห่งละ 10 ท่าน) ได้แก่ที่ Hokkaido, Sendai, Nasu, Chiba, Shizuoka และ Shinkyushu ในเดือนมกราคม 2009
นอกจากนี้ยังมีอีเวนต์การศึกษาที่เปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปผู้สนใจเข้าร่วมโครงการบรรยายเกี่ยวกับ Space Barley และการปลูกพืชรวมถึงแนวโน้มในการอยู่อาศัยในอวกาศ ที่มหาวิทยาลัย Okayama เมือง Kurashiki ในจังหวัด Okayama
หลังจากผลสำเร็จของโครงการนี้แล้วจะมีการผลิต "Space barley tea" เป็นลำดับถัดไปควบคู่ไปกับโครงการใหม่ในการทดลองปลูกข้าวบาร์เลย์ภายใต้สิ่งแวดล้อมนอกสถานีอวกาศ
ในอนาคตอันใกล้นี้ยังมีโครงการวิจัยการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับการใช้ชีวิตและการเดินทางสู่อวกาศในระยะยาวภายใต้สมมุติฐานที่ว่ามนุษย์สามารถลงหลักตั้งถิ่นฐานได้บนดวงจันทร์และดาวอังคาร
อ่านเพิ่มเติม :
1. นิตยสารผู้จัดการ คอลัมน์ Japan Walker ฉบับมิถุนายน 2551
2. นิตยสารผู้จัดการ คอลัมน์ Japan Walker ฉบับกรกฎาคม 2551
|
|
 |
|
|