จากการที่สามารถสั่นสะเทือนแม่โขงได้ด้วย “หงส์ทอง” ราคาที่ถูกกว่ามากและมีการลักลอบขายข้ามเขตทำให้กลุ่มเถลิงมองถึงแผนสุดท้ายที่จะล้อมกรอบแม่โขงตามยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง
ในปี 2528 โรงเหล้า 32 โรงของกรมสรรพสามิตจะหมดสัญญาเช่าและกระทรวงการคลังจะเปิดประมูลล่วงหน้า
2 ปี เพื่อหาเงินเป็นพันล้านเข้ากระเป๋าก่อน
โรงเหล้า 32 โรงนี้กลุ่มใครได้ไปหมดก็เท่ากับว่าเป็นกลุ่มน่ากลัวมาก ถ้าสามารถผลิตเหล้าที่มีคุณภาพขายในท้องถิ่นได้ในราคาไม่แพง
แต่การจะประมูลทั้ง 32 โรงเข้ามาอยู่ในเครือตัวเองทั้งหมดนั้นดูจะไม่ง่ายเพราะเป็นเบี้ยหัวแตกและถ้าประมูลได้ไม่หมดก็จะทำให้แผนการตลาดต้องเสียไปด้วย
ดูเหมือนกระทรวงการคลังจะเห็นอกเห็นใจความยากลำบากของกลุ่มเถลิง ก็เลยตัดสินใจรวม
32 โรงแล้วแบ่งให้เหลือ 12 โรง และแบ่งการผลิตและจำหน่ายไว้ตั้งแต่เขตโรงงานละ
2 ถึง 14 จังหวัด
“ทางเราคิดว่ามันมีจำนวนน้อยจะควบคุมง่ายกว่า แล้วผู้ประมูลได้ต้องสร้างโรงงานใหม่
ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับกระทรวงการคลังเพราะเป็นสมบัติของกรมสรรพสามิตไม่ใช่เพราะเราทำให้กับกลุ่มเถลิง”
เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังซึ่งรับเรื่องต่อจากกรมสรรพสามิต พูดกับ “ผู้จัดการ”
แต่กระทรวงการคลังอาจจะลืมนึกหรือแกล้งนึกไม่ออกถึงข้อเท็จจริงบางข้อเช่น
:-
...โรงงานสุราทั้ง 32 โรงนั้น ขณะนั้นเป็นสมบัติของรัฐไปแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะเอาไว้ทำอะไรทั้งๆ
ที่สภาพยังสามารถจะทำงานต่อไปได้อีกนานพอสมควรคิดเป็นมูลค่าก็ร่วม 2,000
ล้านบาท
...เงินที่จะสร้างโรงเหล้า 12 แห่งนั้นตามข้อเท็จจริงแล้วเป็นเงินของรัฐที่ผู้ประมูลออกให้ก่อนแล้วหักจากเงินที่ส่งให้รัฐทีหลังเป็นตัวเลขทั้งหมดร่วม
5,000 ล้านบาท
...ถ้าต้องทุบโรงงานเก่าทิ้งและยังใช้เงินที่รัฐควรได้มาสร้างโรงงานก็เท่ากับรัฐขาดสิทธิผลประโยชน์ไป
7,000 ล้านบาท
ก็ไม่รู้ว่างานนี้ใครหลอกใครกันแน่!
อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องปัญหาแรงงาน ปรากฏว่าโรงเหล้าใหม่ที่จะสร้างนั้น
สร้างอยู่ที่เดิม 7 จังหวัด อีก 5 โรงต้องสร้างที่อื่น ปัญหาคนว่างงานต้องเกิดแน่โดยเฉพาะในเขตภาคใต้
14 จังหวัด ซึ่งเดิมมีอยู่ 6 โรงถูกยุบเหลือเพียงโรงเดียว
แต่ก่อนการประมูลจะเกิด ก็มีความพยายามของเจ้าของสัมปทานเดิม 32 โรงซึ่งมี
29 ราย เป็นผู้ได้รับสัมปทานอยู่ 31 โรง มีเขตการจำหน่าย 55 จังหวัด ได้ขอต่ออายุสัญญาอีก
15 ปี โดยเอาเงินลงขันให้รัฐ 3,200 ล้านบาท แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ
ทั้งหมดยื่นหนังสือให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งมีข่าวว่า อุเทน เตชะไพบูลย์
เป็นตัวแทน
“ความจริงเจ้าของโรงเหล้าเข้ามาพบ ขอร้องให้คุณอุเทนในฐานะเป็นผู้ใหญ่ในวงการนี้เป็นตัวแทนไปเสนอ
แต่คุณอุเทนเองก็ได้แต่ให้กำลังใจและช่วยเท่าที่จะช่วยได้ แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนเข้าไปหรอก”
แหล่งข่าวในกลุ่มเตชะไพบูลย์อ้างกับ “ผู้จัดการ”
ในที่สุดการประชุมที่สะท้านฟ้าสะเทือนดินก็เริ่มขึ้น
ในการประชุมครั้งแรก วันที่ 17 มีนาคม 2526 กลุ่มเถลิงชนะขาดในการประมูลโรงเหล้า
12 โรง ด้วยค่าผลประโยชน์ทั้งสิ้น 5,884 ล้านบาท
สูงกว่าคู่แข่งร่วมๆ 2 พันล้านบาท!
แต่เถลิงและสหายไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ครบตามเงื่อนไข เพราะงานนี้เริ่มจะเห็นเด่นชัดว่าเป็นการทำสงครามเปิดแนวรบทุกด้าน
“แหล่งเงินส่วนใหญ่เกรงใจคุณอุเทนก็เลยไม่ได้เข้าไปร่วม” ผู้รู้ดีเล่าให้ฟัง
เถลิงและพวกในวันชำระสามารถจ่ายเงินค่าผลประโยชน์แก่รัฐเพียง 2,253 ล้านบาทเท่านั้นก็เลยได้เพียง
5 โรงไป คือ ขอนแก่น หนองคาย เชียงใหม่ กาญจนบุรี และราชบุรี
ส่วนอีก 7 โรง ต้องสละสิทธิ์และเสียเงินค่าประกันซองไปเปล่า
คิดเฉพาะเงินค่าประกันซองก็ 105 ล้านบาท!!
กรมสรรพสามิตกำหนดวันประมูลครั้งที่สองขึ้นมาในวันที่ 26 เมษายน 2526 หรืออีกเดือนหนึ่งให้หลัง
คราวนี้เถลิงก็ชนะอีกเพราะ “ไม่มีใครอยากสู้ด้วยเพราะราคาที่เสนอนั้นมันบ้าเลือด
ดูแล้วคิดเฉพาะต้นทุนอย่างเดียวก็เห็นได้ว่าขายไม่ออก” พ่อค้าเหล้าที่เข้าประมูลโรงหนึ่งโวยวายในวันประมูล
แต่ราคาประมูลครั้งที่สองตกลงมาจาก 3,631 ล้านบาทสำหรับ 7 โรง ในครั้งแรกเหลือเพียง
2,835 ล้านบาทในครั้งที่สอง
“ประมูลครั้งที่สองนี่เห็นได้ว่าเถลิงดึงเอาพงส์ สารสิน เข้ามาเล่นด้วยเต็มตัวเพราะพงส์ต้องโดดเข้ามาช่วยหาแหล่งเงินให้หลายแห่ง
อีกประการหนึ่ง ชาตรี โสภณพนิช ก็โดดเข้ามาด้วยโดยผ่านทางเกียรติ เอี่ยมสกุลรัตน์
ซึ่งถือแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงเทพ จำนวนเงิน 2,500 ล้านบาทเข้ามาร่วม
“คุณเกียรติแกเป็นคนสนิทของชาตรี มีพี่ชายชื่อกมล ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับเถลิง”
แหล่งข่าววงในสาธยายให้ฟัง
“งานนี้คุณชินไม่รู้เรื่องเพราะตอนประมูลคุณชินไม่อยู่ ถ้าอยู่คงไม่เล่น
ได้ข่าวว่าคุณชินต่อว่าชาตรีเรื่องนี้เพราะคนจีนเขาถือกันทางใครทางมัน แต่ชาตรีคงอยากเล่นเพราะชาตรีคิดว่าตัวเองได้หลักประกันที่ดี
อีกอย่างหนึ่งชาตรีคงคิดว่าเส้นทางทหารก็คงมีบ้างเพราะ สว่าง เลาหทัย กำลังติดพันพลเอกอาทิตย์อย่างใกล้ชิด
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าวต่อ
หลักประกันของแหล่งเงินนั้นจากการสืบถามมาของ “ผู้จัดการ” ปรากฏว่าทั้งธนาคารกรุงเทพและไทยพาณิชย์ซึ่งปล่อยให้กลุ่มเถลิง
ต่างยืนยันว่ามีหลักประกันแน่นหนาเรียกว่าเกิดอะไรขึ้น หนี้จะไม่สูญ
“สำหรับไทยพาณิชย์นั้นผมเชื่อเพราะพวกนี้ไม่เล่นกับใครเล่นแต่ของจริง แต่กรณีธนาคารกรุงเทพผมได้ข่าวว่า
นอกจากหุ้นลมที่ได้ 20% จากกลุ่มเถลิงแล้วยังมีสัญญาโรงเหล้าอีก 5 โรง เป็นเครื่องประกัน”
แหล่งข่าวในวงการเงินเล่า
กลุ่มเถลิงต้องประมูลโรงเหล้า 12 โรงให้ได้ เพราะยุทธศาสตร์ของการใช้หงส์ฟ้าปิดแม่โขงโดยเฉือนกันที่ราคาและในเมื่อคนปรุงคือ
จุล กาญจนลักษณ์แล้ว มันแค่แบเบอร์ว่าหงส์ใน 12 โรงเหล้า จะเป็นหงส์เขียว
หงส์ขาว หงส์แดง และหงส์ดำ ย่อมไม่สำคัญ ที่สำคัญคือเป็นแม่โขงในคราบหงส์
ในราคาถูกสำหรับคอเหล้า
“จากการที่ปี 2525 เขาสะเทือนแม่โขงได้ ทำให้เขาเห็นว่าจะสู้กันจริงๆ ก็ต้องทั่วประเทศซึ่งแม่โขงมีสิทธิ์ขาย
จะใช้สิทธิ์นั้นมาสู้แม่โขงก็ต้องเอาโรงเหล้า 12 ให้ได้” พ่อค้าเหล้าคนเก่าพูดเพิ่มเติม
แต่ในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นเดือนที่เริ่มประมูล มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น
ซึ่งถ้าการประมูลเกิดขึ้นในปลายปี 26 แทนที่จะเกิดขึ้นต้นปี 26 กลุ่มเถลิงอาจจะนั่งคิดให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้งก่อนที่จะใส่ตัวเลขประมูล
5 พันกว่าล้านลงไป
เหตุการณ์ในเดือนมีนาคมคือการที่แม่โขง และกวางทองตัดสินใจสู้กับหงส์ทองข้ามเขตด้วยระบบราคาต่อราคาหลังจาก
ที่พยายามพึ่งหน่วยราชการให้ช่วยปราบปรามหงส์ข้ามเขตแล้วไม่ได้ผล
ความจริงกวางทองถูกลดราคาจากขวดละ 44 บาท มาเป็น 32 บาท ตั้งแต่กลางปี
2524 พร้อมทั้งทุ่มโฆษณาและส่งเสริมการขายเข้าไปอีก 10 กว่าล้าน
ยอดขายกวางทองก็กระโดดจากที่เคยขายได้เดือนละ 5 แสนขวดมาเป็นเดือนละ หกล้านห้าแสนในปี
2526 หรือเพิ่มขึ้น 1,200% ในเวลาไม่ถึง 3 ปี
แต่กวางทองไม่ใช่ตัวหลักในการทำกำไร!
กลับเป็นแม่โขงที่ต้องรีบช่วยชีวิตไว้!
แม่โขงจึงถูกลดราคาจากขวดละ 55 บาท เหลือ 45 บาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2526
ยุทธวิธีนี้ได้ผลเพราะยอดแม่โขงขึ้นจากเดือนละสองล้านสองแสนขวดมาเป็นห้าล้านห้าแสนขวดต่อเดือน
“ยุทธศาสตร์ขั้นนี้ทำเอากลุ่มเถลิงกลุ้มใจ ตอนแรกเขามองไม่เห็น ก็คงจะไม่มีใครคาดไว้
เพราะกลุ่มสุรามหาราษฎรเองก็ประหลาดใจเหมือนกันที่ยอดขายดีแบบนี้ แต่ราคาขายแบบนี้ผมคิดว่าเขาคงไม่มีกำไรเท่าไร
อาจจะขาดทุนเสียด้วยซ้ำ แต่เขาต้องทำเพราะไม่งั้นถูกดึงส่วนแบ่งตลาดไปหมด
ยิ่งถ้าทางโรงเหล้า 12 โรงเริ่มผลิตได้ก็ยิ่งเหนื่อย” พ่อค้าเหล้าคนเดิมพูดต่อ
แต่ก็เป็นเวลาไม่นาน หลังจากการประมูลเสร็จสิ้นแล้ว กลุ่มเถลิง เมื่อหันกลับมาคิดตัวเลขใหม่และหันมามองราคาแม่โขงที่ค้ำไว้ตรง
45 บาท กับกวางทองที่ค้ำไว้ตรง 32 บาท ก็ทำให้เย็นไปทั้งตัว
“ผมคิดดูแล้ว 1 มกราคม 2528 กลุ่มเถลิงต้องผลิตเหล้าออกมาตามสัญญา เฉพาะต้นทุนเหล้าอย่างเดียวออกจากโรงงานก็ตก
38 บาทแล้ว ยังแพงกว่ากวางทองอีก ถ้าบวกค่าขนส่งค่าเปอร์เซ็นต์ก็คงต้องขายราคาใกล้แม่โขงดูแค่นี้ก็รู้ว่าใครจะซื้อเหล้าอะไรกัน
นอกจากเขาจะยอมขายขาดทุน” พ่อค้าเหล้าคนเดิมพูดต่อ
“ถ้าเป็นสมัยแรกเถลิงทำและมีเงินหมุนอยู่เถลิงคงเอาเพราะเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย
แต่ศึกครั้งนี้เถลิงดึงแนวร่วมเข้ามามาก พงส์ สารสิน เอย ชาตรี เอย การตัดสินใจอะไรพวกนี้ต้องเกี่ยว แล้วในวงการก็รู้ดีว่าชาตรีเป็นคนอย่างไร
เขาเป็นพ่อค้าเต็มตัว อะไรต้องขาดทุนนานๆ อีไม่เอาหรอก บทอีจะถอนอีก็ถอนเอาดื้อๆ
ฉะนั้นตอนนี้เถลิงขี่เสืออยู่หลายตัว แต่ละตัวเขี้ยวยาวๆ ทั้งนั้น ลงมาเมื่อไรก็โดนกัดเละแน่”
พ่อค้าเหล้าเจ้าเก่าสรุป
เฉพาะดอกเบี้ยของเงิน 5,088 ล้านที่ได้จ่ายไปให้รัฐบาลแล้วนั้น ทางกลุ่มเถลิงต้องจ่ายจนถึงวันนี้ไปแล้ว
940 ล้านบาท!!
หรือตกวันละ 2.5 ล้านบาท!!
ฉะนั้นจนถึงมกราคม 2528 ดอกเบี้ยทั้งหมดที่กลุ่มเถลิงต้องจ่ายถึง 1,540
ล้านบาท!!
ทุกคนในกลุ่มเถลิงจึงต้องสร้างยุทธการดิ้นสุดฤทธิ์ขึ้นมา!