ปัญหาสำคัญของธุรกิจส่งออกพืชไร่ของไทยในปัจจุบันคือ การขาดช่วงผู้บริหารที่มีความสามารถ
เพราะธุรกิจนี้ส่วนใหญ่บริหารกันเองในครอบครัว โอกาสที่จะต้องใช้ระบบตัดสินใจเฉียบขาดและเสี่ยงที่จะเสียเงินจำนวนมหาศาลมีอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นหัวหน้าครอบครัวจะเป็นเพียงคน ๆ เดียวที่คอยตัดสินใจ
"ปัจจุบัน มีการแข่งขันตัดราคาอย่างรุนแรง กลุ่มผู้ส่งออกพืชไร่รายใดที่มีทายาทคอยดำเนินธุรกิจแทนพ่อได้
ก็นับเป็นโอกาสที่จะขยายบทบาททางการค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่บางกลุ่มเจอปัญหาซบเซาจนถึงเลิกราจากวงการนี้ไปเลย
หรือถ้าประทังไปได้ก็ Diversified สู่ธุรกิจด้านอื่น อาทิกลุ่มฮ่วยชวนค้า
ข้าวเข้าไปถือหุ้นธนาคารมหานคร, กรพจน์ อัศวินวิจิตร ลูกชายอวยชัย กลุ่มแสงทองค้าข้าวหันไปเป็นกรรมการสหธนาคารจับงานด้านธุรกิจประกันภัยแทน"
ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เปรยกับ "ผู้จัดการ"
แต่กลุ่ม อี.พี.ซี. หรือเอียเป็งเชียง ของเสี่ยกิมก่าย (ธเนศ เอียสกุล)
แห่งเมืองหนองคาย ผู้ผูกขาดการส่งออกข้าวเหนียวรายใหญ่ที่สุดไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
รวมทั้งมีกิจการโรงสีข้าว, โรงมันอัดเม็ด และบริการขนส่งทางรถบรรทุกสายอีสานนั้นค่อนข้างโชคดีที่มีลูกชายช่วยสืบทอดเจตนารมย์ถึงสองคน
ยิ่งกว่านั้นดูเหมือนเขาทั้งคู่จะล้ำหน้าผู้พ่อที่ Diversified ไปยัง "วิถีทางที่รัดกุม"
ของผู้ส่งออกปัจจุบันนี้ด้วย
เมื่อปี 2518 เสี่ยกิมก่ายถูกชักชวนจาก ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง
ส.ส. จังหวัดหนองคาย ... แล้วปีนั้นชื่อ ธเนศ เอียสกุล ได้ปรากฏเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
"คุณพ่อไม่ตั้งใจเล่นการเมือง แต่ถ้าคุณดำเนินธุรกิจสร้างเนื้อสร้างตัวในจังหวัดของคุณ
คุณเด่นดังขึ้นมา การเมืองก็จะเดินเข้ามาหาคุณเอง อย่างคุณพ่อผมท่านต้องเข้าวังวนทางการเมืองทั้ง
ๆ ที่ไม่สนใจ" ฉัตรชัย เอียสกุล ลูกชายคนโตของธเนศเล่ากับ "ผู้จัดการ"
ในวิถีทางการเมืองนั้น ผู้เข้าไปสัมผัสแล้วเหมือนเล่นการพนัน ยากที่จะถอนตัวออกมาได้
เสี่ยกิมก่ายจึงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. สมัยที่สอง เขาพลาดแต่ก็ตั้งทีมงานลงแข่งขันสมัยต่อ
ๆ มาอีกตั้งแต่สมาชิกสภาจังหวัด, สมาชิกสภาเทศบาล และ ส.ส. ด้วย
"เสี่ยกิมก่ายไม่หันหลังให้การเมือง เมื่อลูกชายสองคนจบการศึกษา เขาก็ส่งเสริมให้เล่นการเมือง"
ผู้ส่งออกรายหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 ที่ผ่านมา มีสองพี่น้อง "เอียสกุล"
ติดชื่อเป็น ส.ส. จังหวัดหนองคายคือ ฉัตรชัยและเฉลิมชัยเอียสกุล ลูกชายของเสี่ยกิมก่าย
ผู้พี่นั้น ลงสมัครเป็นครั้งที่ 2 แต่เฉลิมชัยลงสมัครเป็นครั้งแรก
ฉัตรชัย ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" ท่ามกลางบรรยากาศสับสนของการทำงานช่วงเช้าก่อนวันประกาศชื่อผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ที่เขามีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะได้รับเลือก ซึ่งในที่สุดเขาก็ได้เป็นจริง ๆ
"ผมจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ แล้วบินไปเรียนต่อที่นอร์ธอีสเทิร์น รัฐแมสซาชูเซทส์
เมื่อศึกษาจบก็เข้าทำงานที่หน่วยงาน World Food ขององค์การสหประชาชาติซึ่งกำลังเริ่มโครงการ
Operation Border ของกัมพูชาเป็นเวลา 1 ปี"
จุดนี้เอง ทำให้กลุ่ม อี.พี.ซี. ติดต่อขายข้าวให้สหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้ในเวลาต่อมา
เมื่อลาออกจาก U.N. ฉัตรชัยบินไปทำงานด้านการค้าระหว่างประเทศกับญาติในฮ่องกงจนกระทั่งปี
2525 จึงกลับมาช่วยดำเนินงานกับธเนศ แล้วกระโดดเข้าเล่นการเมืองต่อจากนั้นไม่นาน
ฉัตรชัย วัย 31 ปี มีบุคลิกคล่องแคล่วว่องไว และมีไหวพริบดี สมเป็น นักธุรกิจต้องหยุดให้สัมภาษณ์เพื่อเจรจาธุรกิจถึง
3 ภาษาระหว่างคุยกับ "ผู้จัดการ"
"ผมเป็นทายาททางการเมืองของคุณพ่อ แต่มันเป็นเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น"
ฉัตรชัยหัวเราะและตอบอย่างเชื่อมั่น เมื่อถูกถามว่าจะสมัครลงรับเลือกตั้ง
ส.ส. ครั้งต่อไปอีกหรือไม่
ว่าไปแล้ว .... หนองคายเป็นประตูเดียวในเขตอีสานที่เปิดไปสู่ประเทศลาว
กลุ่ม อี.พี.ซี. คุมการส่งออกสินค้าผ่านแดนเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ ข้าวเหนียว,
ข้าวขาว ฯลฯ การเจรจาขายสินค้าของไทยล็อตใหญ่ ๆ จะต้องขายผ่านโซเซเต้ (องค์การของรัฐบาลลาว)
แต่ อี.ซี.พี. ก็ประสบผลสำเร็จเกือบทุกครั้ง ถึงแม้การค้าผ่านพรมแดนไทยลาว
จะไม่รุ่งเรืองเหมือนเดิม
ฉัตรชัยให้ความเห็นว่าควรมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อขยายการเปิดพรมแดนค้าขายกับลาวมากขึ้น
แต่ทางด้านการขยายตัวธุรกิจกลุ่ม อี.พี.ซี. ต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวือหวา
เหมือนกลุ่มอื่น ๆ
"เราจะใช้ทุนส่วนตัว ไม่กู้เงินธนาคารมาขยายหรอก" ฉัตรชัยกล่าวอย่างมั่นใจถึงโครงการธุรกิจของตนควบคู่ไปกับบทบาท
ส.ส. หนองคาย
ส่วนเฉลิมชัย เอียสกุล น้องชายจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และปริญญาโทที่มิดเดิ้ลเทนเนสซี่ ในสาขาเศรษฐศาสตร์ พึ่งเริ่มจับธุรกิจช่วยงานพ่อและพี่ชาย
พร้อมกับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดหนองคายแล้วได้รับเลือกในครั้งแรกนี้ด้วย
"วิธีหาเสียงของผมและคุณพ่อคือ ออกไปในเขตชนบทเราไปบริจาคสิ่งของ
เครื่องใช้กัน เพราะปกติคุณพ่อชอบทำงานสงเคราะห์แบบนี้อยู่แล้ว และชาวหนองคายคงต้องการคนหนุ่มที่คิดว่า
จะทำอะไรได้มากขึ้น" เฉลิมชัยอายุเพียง 29 ปี กล่าวอย่างถ่อมตัว มีรอยยิ้มสุภาพสมเป็นนักการเมือง
เฉลิมชัย ชี้ว่า ไม่เป็นของแปลกที่ผู้ส่งออกข้างจะ Diversify ไปทำธุรกิจอื่น
เพราะทุกวันนี้ ท้อแท้มีอุปสรรค์มากเหลือเกิน ประสบการณ์ส่วนใหญ่ต้องอาศัยจากคุณพ่อผู้ชำนาญและมีเครดิตสร้างสมมานาน
แต่สภาวะการส่งออกจะตันมีเฉพาะลูกค้าเก่าขาประจำเท่านั้น การเปิดตลาดมีน้อย
"บริษัทใหญ่ที่อาวุโสกว่าย่อมมองอะไรไกลกว่า ยังต้องเปลี่ยนแปลงเลย
ผมจึงต้องเตรียมการอย่างเนิ่น ๆ" หนุ่มวัย 29 ปี กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เขาทั้งสองเป็นตัวแทนของ Second Generation ในวงการธุรกิจส่งออกพืชไร่ที่หลาย
ๆ ฝ่ายเฝ้ามอง และไม่แน่ว่า ผู้ส่งออกสินค้าพืชไร่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้าสักวันหนึ่ง