หากในช่วงเดือนกันยายน 2533 หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง ไม่ลงข่าวตัวเต็งตำแหน่งผู้
อำนวยการธนาคารออมสิน ที่จะมาแทน ม.ร.ว.จันทรแรมศิริโชค จันทรทัต ในทำนองที่ว่า
"ให้ไปขัดตาทัพหรือเป็นการให้โบนัสของคลัง เพราะประพันธ์มีอายุราชการเหลือเพียง
1 ปี ซึ่งคงทำอะไรไม่ได้มาก" แล้วผู้อำนวยการคนที่ 8 ของแบงก์ออมสิน
คงไม่ใช่ชื่อ ประพันธ์ ศิริรัตน์ธำรง อย่างแน่นอน
"ผมฮึดสู้ เพราะรู้สึกวามันท้าทายดี" ประพันธ์ กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจมารับตำแหน่งผอ.แบงก์ออมสินทันทีที่อ่านพบข่าวดังกล่าว
ทั้ง ๆ ที่เห็นคำสั่งแต่งตั้งในตอนแรกแล้วรู้สึกอึดอัด เนื่องจากเหตุผลที่ว่า
"ผมไม่อยากแย่งตำแหน่งใครเพราะรองเขาก็มี"
จนกระทั่งปัจจุบันนี้ผอ.ธนาคารออมสินทุกคนล้วนเป็นคนที่ส่งมาจากกระทรวงการคลังทั้งสิ้น
นับแต่
1. สวัสดิ์ โสตถิทัต (30 เม.ย. 2490 - 29 เม.ย. 2492)
2. พระยาเชาวนานุ-สถิติ (30 เม.ย. 2492-20 มี.ค. 2499)
3. พระเสริมพาณิชย์ (20 มี.ค. 2499-12 ธ.ค. 2500)
4. ม.ล.ปืนไทย มาลากุล (12 ธ.ค. 2500-8 ม.ค. 2515)
5. ม.ร.ว.ทองแท่ง ทองแถม (1 มี.ค. 2515-26 ก.พ.2518)
6. นายดุษฎี สวัสดิ์-ชูโต (16 พ.ค. 2518-30 ก.ย. 2528)
7. ม.ร.ว.จันทรแรมศิริโชค จันทรทัต (1 ต.ค. 2528-30 ก.ย. 2533)
8. นายประพันธ์ ศิริรัตน์ธำรง (8 ต.ค. 2533-30 ก.ย. 2534)
9. นายวิบูลย์ อังสนันท (1 ต.ค. 34-ปัจจุบัน)
พนักงานจำนวนไม่น้อยของแบงก์กลับรู้สึก ยินดีที่ผอ.เป็นคนนอก โดยเฉพาะตั้งแต่สมัย
ม.ร.ว.จันทร์แรมศิริโชคเป็นต้นมา เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมหลายสิ่งที่เป็นผลดีกับองค์กรนับแต่การสั่งให้สาขาของออมสินทุกแห่งติดแอร์
หรือการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ เป็นต้น
"ณ วันนี้ผมว่าลูกหม้อของออมสินเองยังไม่มีใครเหมาะสมสักคน"
พนักงานระดับหัวหน้าฝ่ายแสดงทัศนะกับ "ผู้จัดการ"
ในช่วงเวลาเพียง 1 ปีที่ออมสินของประพันธ์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ที่ชัดเจนคือ การปรับโครงสร้างองค์กรจากเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ออมสินก่อตั้ง
โดยประพันธ์ให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า "เพื่อรองรับกับการขยายตัวของออมสินในอนาคต"
พนักงานส่วนใหญ่เห็นชอบกับโครงสร้างใหม่นี้ เพราะไม่เพียงแต่เป็นการกระจายออำนาจความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานให้ลดลงแล้ว
ตำแหน่งงานใหม่ ๆ ในระดับสูงก็มีเพิ่มขึ้นกว่า 40 ตำแหน่ง ซึ่งประพันธ์ก็แต่งตั้งจนครบทันที
กรณีสำนักสินเชื่อและการลงทุนที่มีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งเดิมเป็นแค่กองผลประโยชน์
น่าจะเป็นคำอธิบายได้ดีถึงการมองการณ์ไกลและความกล้าตัดสินใจของอดีตผู้อำนวยการคนนี้
อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้น ๆก็ก่อให้เกิดปัญหาได้หลายประการ
โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนในสายงานที่รับผิดชอบ ซึ่งลูกหม้อเก่าแก่ของแบงก์รายหนึ่งกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
"ท่านประพันธ์หาเงินฝากเก่ง ส่วนท่านวิบูลย์เก่งด้านการลงทุน"
พนักงานคนเดิมกล่าวเปรียบเทียบถึงความแตกต่างของผู้อนำวยการทั้งสองท่าน
ก็คงจะจริงดังการเปรียบเทียบข้างต้น เพราะในสมัยประพันธ์ได้มีกลยุทธ์การระดมเงินฝากจากประชาชนมากมายไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรางวัลสลากออกสิน
หรือการออกออมทรัพย์แบบสงเคราะห์ชีวิต ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากเกินความคาดหมาย