ความขัดแย้งในธนาคารแหลมทองตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปัจจุบัน สำหรับคนภายนอกแล้วมันเป็นไปได้ทั้งนั้นว่าเกิดความขัดแย้งทางธุรกิจหรือความขัดแย้งเรื่องส่วนตัว
ผู้ที่จะอธิบายเรื่องราวทั้งหมดได้ก็คงเป็นสุระ จันทร์ศรีชวาลา และสมบูรณ์
นันทาภิวัฒน์ อย่างไรก็ตาม ในบางปัญหาแม้จะไม่ได้รับคำอธิบายละเอียดอย่างไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อน
แต่สุดท้ายบางทีก็ต้องย้อนกลับไปที่คำถามว่า เขาขัดแย้งเรื่องอะไรกันแน่!
พลิกดูหัวข่าวหนังสือพิมพ์แนวเศรษฐกิจทุกฉบับในช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ลงข่าวคราวเกี่ยวกับธนาคารแหลมทอง
บางคนอาจจะอุทานในใจว่า “เอาอีกแล้วหรือ...” ในขณะที่บางคนพลิกอ่านรายละเอียดหน้าใน
ด้วยความรู้สึกเฉยเมยเพราะรู้อย่างไรเสีย เหตุการณ์ทำนองนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
และบางคนอาจจะรู้ไปไกลถึงขั้นที่ว่านี่ คือ การเริ่มต้นความขัดแย้งครั้งสุดท้ายของธนาคารแห่งนี้ระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มหนึ่งที่มีสุระ
จันทร์ศรีชวาลา เป็นหัวหอก และมีสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ แม่ทัพของผู้ถือหุ้นใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นปราการตั้งรับ
สัญญาประนีประนอมที่ร่างขึ้นโดยความเห็นชอบของทั้ง 2 ฝ่าย และลงนามต่อหน้าสักขีพยานระดับกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอย่างชาตรี
โสภณพนิช ถูกฉีกกระชากลากทิ้งไม่เหลือซาก โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นผู้ละเมิดสัญญาก่อน
สภาพของการที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวหา สภาพที่ต่างฝ่ายต่างมองในแง่มุมของตน
สภาพที่ต่างฝ่ายต่างอธิบายเหตุผลในการกระทำของตน และที่สำคัญที่สุดต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก อาจจะเป็นคำอธิบายที่สั้นที่สุดสำหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในธนาคารแหลมทองทุกวันนี้
คำอธิบายที่ยาวกว่านี้ แจ่มชัดกว่านี้มีแน่ แต่อยู่ในตอนท้ายของรายงาน
หลังจากที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความสงบศึกกันชั่วคราวระหว่าง สุระ จันทร์ศรีชวาลา กับ สมบูรณ์
นันทาภิวัฒน์ ในวันที่ 28 ธันวาคม 2527 ดำรงอยู่ได้อย่างเผิน ๆ เพียง 7 เดือนเท่านั้น
เดือนสิงหาคม 2528 สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์แน่ใจแล้วว่าหุ้นธนาคารแหลมทองถูกกว้านซื้ออย่างเงียบ
ๆ จากกลุ่มของสุระ จันทร์ศรีชวาลา ดังนั้นในวันที่ 30 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันประชุมคณะกรรมการประจำเดือน
สมบูรณ์จึงอาศัยมติเสียงข้างมากในคณะกรรมการ ประกาศเพิ่มทุนของธนาคารแหลมทอง
จาก 300 ล้านบาทเป็น 400 ล้านบาท โดยให้สิทธิผู้ถือหุ้นเก่าซื้อหุ้นออกใหม่ได้ในอัตรา
3 ต่อ 1 เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าหุ้นทั้งหมดที่กลุ่มนายสุระ จันทร์ศรีชวาลา ถืออยู่จริงนั้นเท่าไรกันแน่
ผลที่ออกมาทำให้สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ขนหัวลุกทีเดียว เพราะปรากฏว่าหุ้นของกลุ่มสุระ
จันทร์ศรีชวาลาสูงถึงเกือบ 42 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหุ้นทั้งหมด นี่ถ้าเฉลียวใจช้าไปอีกไม่กี่เดือนเก้าอี้กรรมการผู้จัดการมีหวังปิ๋วไปชนิดกู่ไม่กลับ
ถึงขั้นนี้สัญญาประนีประนอมก็หมดความหมาย ธนาคารแหลมทองเริ่มทยอยฟ้องกิจการในเครือข่ายที่สุระ
จันทร์ศรีชวาลาบริหารอยู่ แต่คดีฟ้องร้องเหล่านั้นถ้าเปรียบไปก็เป็นแค่หมัดแย็ปรบกวนเท่านั้น
หมัดเด็ดที่สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์และกลุ่มผู้บริหารธนาคารแหลมทองแสดงออกมาว่าเอาจริงกับกลุ่มของสุระก็คือการยื่นฟ้องล้มละลายบริษัทสยามวิทยา
อันเป็นบริษัทแม่ของกิจการในเครือของสุระ ในวันที่ 21 มีนาคม 2529
เช้าวันเดียวกันกับที่ธนาคารแหลมทองยื่นฟ้องล้มละลายบริษัทสยามวิทยา สื่อมวลชนแทบทุกฉบับก็ได้รับสำเนาคำฟ้องทั้งหมด
บ่ายวันนั้นผู้รับผิดชอบข่าวเศรษฐกิจของหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ กำลังปวดหัวอยู่ว่าจะทำอย่างไรกับข่าวชิ้นนี้ดี
ก็มีโทรศัพท์แจ้งว่าสุระ จันทร์ศรีชวาลาจะแถลงข่าวในตอนค่ำ
ข่าวที่แถลงในค่ำวันนั้นก็คือปฏิเสธฐานะล้มละลายของบริษัทสยามวิทยา พร้อมทั้งแถลงอีกว่าการฟ้องร้องล้มละลายดังกล่าว
อาจจะเกิดจากการที่สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์โกรธแค้นที่ผู้ถือหุ้นของธนาคารแหลมทองกลุ่มของ
สุระ จันทร์ศรีชวาลา ยื่นญัตติถอดถอนสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ออกจากตำแหน่งกรรมการ
(เท่ากับถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโดยปริยาย) เข้าเป็นวาระหนึ่งในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีวันที่
28 มีนาคม 2529
ก็ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่สุดของวงการธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้น
2 กลุ่มในธนาคารได้ลุกลามจนถึงขั้นเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นออกเสียงให้ถอดถอนกรรมการผู้จัดการออกจากตำแหน่ง!
ผลการประชุมผู้ถือหุ้นในวันนั้นคงต้องขอความกรุณาพลิกไปอ่านในล้อมกรอบ
“อย่างนี้หรือที่เรียกว่าแถลงข่าว”
และคงไม่มีใครติดใจสงสัยหรอกว่าต่อไปนี้ คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่งัดจุดอ่อนของแต่ละฝ่ายมาฟาดฟันกันทั้งในศาล
(แง่กฎหมาย) และนอกศาล (ใบปลิว...ข่าวลือ.... หาพันธมิตรเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับฝ่ายตน
ฯลฯ) จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะกำชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด
ประเด็นที่ “ผู้จัดการ” ให้ความสนใจพิเศษและเชื่อว่าผู้อ่านคงสนใจเช่นเดียวกัน
ก็คือเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับธนาคารแหลมทองทุกวันนี้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง
เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหากจะมองจากมุมหนึ่งก็เป็นแค่กรณี CORPORATE
TAKE OVER กรณีหนึ่งเท่านั้น เผอิญบ้านเราไม่ค่อยเคยชินกับกรณีตัวอย่างนี้
และเผอิญที่เป็นกิจการธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่ถูกกลุ่มธุรกิจอีกกลุ่มหนึ่งพยายาม
TAKE OVER จนเกือบสำเร็จ (อย่างแบงก์สยามเขาไม่เรียกว่า TAKE OVER เขาเรียกว่ากระทรวงการคลังรับหนี้แทน)
มองอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นเพียงแค่ความขัดแย้งระหว่าง “บุคคล” หรือ
“กลุ่มบุคคล” เท่านั้น แต่ขยายตัวไปถึงขั้นที่ต้องหักล้างกันในเชิงธุรกิจให้พังกันไปข้างหนึ่ง...ให้สมแค้น
ก็พอจะมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน
ยอดปรารถนาของสื่อมวลชนที่ดีทุกฉบับก็คือการทำข่าวการพิพาทขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ
หรือระหว่างบุคคลกับบุคคล จะต้องพยายามให้ทั้งสองฝ่ายของฝ่ายตนออกมาเพื่อความสมบูรณ์รอบด้านของข่าวชิ้นนั้น
“ผู้จัดการ” ก็เช่นกัน ได้พยายามติดต่อบุคคลที่ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของแต่ละฝ่ายที่สามารถไขปัญหาทั้งหมดออกมาให้กระจ่าง
ซึ่งก็หนีไม่พ้นสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ กับ สุระ ศรีจันทร์ศรีชวาลา ซึ่งโชคดีที่ได้รับความร่วมมือจากบุคคลทั้งสอง
ปัญหาก็ยังไม่หมด เพราะข้อมูลที่ได้มา 2 ด้านนั้น... 2 ด้านจริง ๆ เป็นเหมือนเส้นตรง
2 เส้นมาชนกันทำมุม 180 องศา อย่างชนิดที่ไม่มีทางดึงปลายให้โค้งจรดกันเป็นวงกลมของข่าวที่กลมกลืนกันไปได้
ดังนั้นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดและจะได้ภาพชัดที่สุดสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในธนาคารแหลมทองในปัจจุบัน
และแนวโน้มในอนาคต เราจึงได้ลงคำสัมภาษณ์ทั้งของสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ และสุระ
จันทร์ศรีชวาลา ในประเด็นต่าง ๆ ที่ต่างฝ่ายต่างคิดว่าเป็นสาเหตุที่ก่อปัญหาโดยไม่ตัดทอน
สำหรับประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับคู่กรณีฝ่ายเดียวก็จะลงเฉพาะความเห็นของฝ่ายนั้น
ในประเด็นแรกคงต้องพลิกไปอ่านประวัติธนาคารแหลมทองควบไปด้วย แต่สมบูรณ์
นันทาภิวัฒน์ ก็ได้ให้ความเห็นอย่างเปิดเผยมากพอสมควร ในประเด็นนี้สุระ จันทร์ศรีชวาลาเห็นเป็นเรื่องภายในตระกูลนันทาภิวัฒน์เอง
จึงไม่ให้ความเห็น
ประเด็นที่สองสื่อมวลชนอื่นให้ความเห็นมามากแล้วว่าสุระ จันทร์ศรีชวาลาได้หุ้นแหลมทองจำนวนมากที่สุดครั้งแรกด้วยสาเหตุอะไร
ลองอ่านคำให้สัมภาษณ์ดูเอาเอง ขอเตือนล่วงหน้าถ้าคุณประสาทแข็งไม่พอ...อาจจะช็อก