คนที่ไม่มีชาติตระกูลอย่างกังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ ประธานนานาพรรณกรุ๊ป เขาดำเนินธุรกิจอย่างไรจึงเติบโตและยืนตรงอย่างองอาจเช่นปัจจุบันได้?
นับครั้งได้ที่หนังสือพิมพ์จะพูดถึงเขาในแง่ลบ มันเป็นมาอย่างไร? คนที่เรียนหนังสือไม่จบ
ป. 4 แต่สามารถยืดอกร่วมอภิปรายกับ ดร. ครั้งแล้วครั้งเล่า ยิ่งไปกว่านั้นอยู่ดีไม่ว่าดี
เขาออกมา "ด่า" ญี่ปุ่นเล่น....
"บางคนบอกว่าผมอยากดัง ญี่ปุ่นเป็นยักษ์ใหญ่ ทำไมไปชนกับเขา ตายแน่..."
กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ ออกตัวประโยคแรกกับ "ผู้จัดการ" ในการสนทนาอย่างเป็นกันเอง
เย็นวันหนึ่ง ณ สำนักงานใหญ่ นานาพรรณกรุ๊ป ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านถนนทรงวาด
กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ ผู้นำทางธุรกิจส่งออกสินค้าพืชไร่ โดยเฉพาะข้าวโพดที่หนังสือพิมพ์ธุรกิจกล่าวถึงมากที่สุดคนหนึ่ง
ว่ากันว่าเขามีอุปนิสัยกันเองมาก ๆ กับทุกคน และสนิทสนมเป็นพิเศษกับหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่บางฉบับ
"งานสำคัญของ คุณกังวาฬ ในวันหนึ่ง ๆ นอกเหนือจากบริหารงานเกือบสิบบริษัทแล้ว
คือการให้ข่าวหนังสือพิมพ์" ผู้ใกล้ชิดและรู้กิจวัตรของกังวาฬดี เล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง "อย่างว่า ผู้ส่งออกพืชไร่ส่วนใหญ่เก็บตัวไม่พูด
เมื่อคุณกังวาฬพูดก็ถือว่ามีประโยชน์ อีกแง่หนึ่งเป็นการช่วยให้หนังสือพิมพ์บ้านเรามีข่าวทำนองนี้เสนอกันอย่างสม่ำเสมอด้วย"
แหล่งข่าวคนเดิมสรุปเอาดื้อ ๆ แบบทีเล่นทีจริง
และแล้ววันดีคืนดีกังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ก็ออกมาแฉพฤติกรรมของสมาคมผู้ค้าอาหารสัตว์ญี่ปุ่น
(JAPAN FEEDMILL TRAD ASSOCIATION) หรือเจฟต้า (JFTA) ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ-จีนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม
2529 นอกจากนี้ยังยึดที่ประชุม กรอ. (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนและรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ)
ที่ขอนแก่นเมื่อปลายเดือนมกราคม ย้ำถึงปัญหานี้อย่างเป็นทางการ ในฐานะที่กังวาฬเป็นผู้ร่วมสัมมนาคนหนึ่ง
ดูเหมือนเรื่องราวระหว่างเขากับญี่ปุ่น จะลุกลามออกไปไม่ต่างจากไฟไหม้ฟางเท่าใดนัก!
และกังวาฬต้องนับเป็นเอกชนคนเดียวที่กล้าชนกับเจฟต้าอย่างตรง ๆ และแรง ๆ
โดยกล่าวหาว่าหน่วยงานนี้ว่าไม่มีความจริงใจในการรับซื้อข้าวโพด กระทำตนขัดขวางข้อตกลงการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
เป้าหมายการค้าข้าวโพดปีละหลายแสนตัน แต่ญี่ปุ่นกลับซื้อไม่ถึง 10% ที่สำคัญการนำเข้ายังต้องผ่านเจฟต้านี้เท่านั้นด้วย
"ที่ผ่าน ๆ มาจะมีเพียงหน่วยงานของรัฐบาลบางหน่วยเท่านั้นที่ออกมาวิจารณ์ญี่ปุ่นแบบกว้าง
ๆ ไม่เจาะจง และผมไม่เคยเห็นนักธุรกิจคนใดกล้าชนกับญี่ปุ่นตรง ๆ อาจจะกลัวว่า
"แบล็กลิสต์" ไม่ยอมซื้อสินค้า" ผู้สังเกตการณ์การค้าไทย-ญี่ปุ่นคอมเมนต์กับ
"ผู้จัดการ"
เจฟต้า-สมาคมการค้าที่ทรงอิทธิพลมาก ควบคุมดูแลการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์
(COMMODITY) เกือบทุกชนิดเข้าญี่ปุ่น และมีส่วนกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย
ผู้ส่งออกไทยที่คิดจะค้ากับญี่ปุ่น มักจะมีความคิดว่าอยู่เฉย ๆ ดีกว่า ยิ่งสมาคมการค้าส่งออกบ้านเราเกาะตัวกันหลวม ๆ เช่นนี้แล้ว ย่อมไม่อาจหวังพึ่งเป็นหลังอิงได้
แต่เมื่อติดตามข่าวกังวาฬกับเจฟต้าต่อเนื่องก็จับความที่น่าสังเกตว่า เมื่อปลายปี
2528 บริษัทนานาพรรณเอ็นเตอร์ไพร้ซที่กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์เป็นกรรมการผู้จัดการ
สามารถทำสัญญาขายข้าวโพดจำนวนประมาณ 2 หมื่นตัน กับซูมิโตโม่-เทรดดิ้งคัมปะนีรายใหญ่ของญี่ปุ่นเพื่อส่งไปญี่ปุ่นอย่างเงียบเชียบ
การกระทำครั้งนี้เจฟต้าไม่พอใจมาก เนื่องจากเจฟต้าดำเนินนโยบายนำเข้าข้าวโพดไทยแบบรวมกลุ่มมาตลอดช่วง 2-3 ปีมานี้ ผู้นำเข้าญี่ปุ่นกลุ่มนี้มีอำนาจต่อรองอย่างสูง "เล่นแง่"
ไม่ยอมซื้อข้าวโพดจากไทย แม้จะมีเป้าหมายถึง 3 แสนตัน/ปี ด้วยข้ออ้างต่าง ๆ นานา ซึ่งที่สำคัญก็คือกล่าวหาว่าข้าวโพดไทยคุณภาพไม่ดี
สมาชิกเจฟต้าที่เอาการเอางานส่วนหนึ่ง อาทิ มิตซุย มารูเบนิ ซีอีโต้ โตโยเมนกา
จึงออกแรงบีบซูมิโตโมไม่ให้นำข้าวโพดไทยที่ซื้อจากนานาพรรณฯ เข้าญี่ปุ่น
และยกเลิกสัญญาส่วนที่เหลือแล้วเข้าคอกตามเดิม ทำเอาซูมิโตโมอ่อนยวบไปเหมือนกัน
เหตุการณ์อันไม่น่าจะเกิดขึ้นนี้ นำมาซึ่งข้อกังขาบางประการ
หนึ่ง-เพราะเหตุใดนานาพรรณฯ จึงสามารถผ่านกำแพงการ "เกาะตัว"
อย่างเหนียวแน่นของผู้นำเข้าข้าวโพดญี่ปุ่นได้
สอง-การต่อสู้ของกังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ครั้งนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเท่านั้นหรือ?
คำถามเช่นนี้ท้าทายการ "ค้นคว้า" อย่างมาก แน่นอนมิอาจจะหาคำตอบสำเร็จรูปอย่างสั้น
ๆ ง่าย ๆ หรือสรุปจากถ้อยคำที่กังวาฬคุยกับ "ผู้จัดการ" แต่เพียงประการเดียว
"คนที่ว่าผมอยากดัง…เป็นคนที่ไม่เข้าใจเรื่องการตลาดปัจจุบัน มันเปลี่ยนไปแล้ว
เราเป็น SUPPLIER เป็นผู้ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อ สิ่งที่ผู้ซื้อต้องการจากเราคือ
หนึ่ง-สินค้าคุณภาพดี สอง-แม้ขาดทุนก็ส่งมอบไม่มีเบี้ยว สาม-ส่งมอบตามกำหนดเวลา
ถ้านานาพรรณฯ ทำได้เช่นนี้ผู้ซื้อต้องมาหานานาพรรณฯ มิใช่เราไปหาผู้ซื้ออย่างเดียว
หมดสมัยแล้วที่เราจะเที่ยวขอร้องให้เขามาซื้อสินค้าจากเรา..."
"..สมัยก่อน ผมพูดไม่มีคนเชื่อ แต่ปัจจุบันมีข้อมูลหลายอย่างสนับสนุน
คนจึงเชื่อ เอ๊ะ ทำไมเราขายเกาหลีใต้ได้? ทำไมเกาหลีใต้จึงพูดไม่เหมือนญี่ปุ่น?
สมัยก่อนไม่มีอะไรเปรียบเทียบผู้พูดก็เลยมักจะเป็นผู้แพ้.." ฯลฯ
พฤติกรรมของกังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ มิอาจพิจารณาจาก "แรงจูงใจ"
หรือ "เจตนารมณ์" ที่เขากล่าวข้างต้นได้เท่านั้น "ผู้จัดการ"
ยังได้พยายามที่จะค้นทั้งภาพกว้างและลึกที่แวดล้อม ในที่สุดจึงพบ "ปม"
สำคัญที่กล่าวถึงปัจจัยความรุ่งโรจน์ และล้มเหลวของนานาพรรณกรุ๊ป ภายใต้การนำของ
กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ ว่ามีญี่ปุ่นแทรกตัวอยู่อย่างไม่น่าเชื่อ
ปี 2529 จึงมิใช่ครั้งแรกที่กังวาฬ "ต่อสู้" กับญี่ปุ่น หากเป็นครั้งที่สาม
ในห้วงเวลา 20 ปี ที่กลุ่มของเขาเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น ในด้านตรงกันข้าม นานาพรรณกรุ๊ปเพิ่งบรรลุข้อตกลงร่วมทุนกับญี่ปุ่นในการผลิต
ARTIFICIAL WAX เมื่อปี 2526 และเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2528
กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ นามสกุลของเขาบอกชัดเจนว่าเป็นคน "แซ่ตั้ง"
เขาเป็นบุตรชายคนแรกของชาวจีนคนหนึ่งที่อพยพมาจากซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง เขาเกิดบนแผ่นดินไทย
บริเวณแม่น้ำสายเส้นเลือดของประเทศ-แม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มต้นปากน้ำโพเมื่อปี
2478
"พ่อผมทำงานล่องเรือขนส่งสินค้าจากปากน้ำโพมากรุงเทพฯ แต่งงานกับแม่ซึ่งเป็นชาวเพชรบุรี
แล้วก็มาตั้งรกรากที่นครสวรรค์ ผมจึงเกิดที่นั่น" กังวาฬเล่าเรื่องตัวเขาให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
"พอสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นตอนนั้นผมอายุ 7 ขวบ กำลังเรียนที่โรงเรียนวัดที่ตำบลแควใหญ่
จำเป็นต้องย้ายมาอยู่กับยายที่เพชรบุรี เมื่อสงครามเลิกจึงย้ายเข้ากรุงเทพฯ
อยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน" สำนักงานนานาพรรณกรุ๊ปตั้งอยู่สุดตรอกท่าน้ำศาลเจ้า
ตรงข้ามวัดเผยอิง ซึ่งเป็นที่ที่กังวาฬใช้ชีวิตมากว่า 40 ปี
พ่อของเขาเริ่มค้าขายสินค้าพืชไร่ด้วยการร่วมทุนกับเพื่อน ในขณะที่กังวาฬทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายสินค้าจากซัวเถา
จำพวกสมอดอง กระเทียมดอง ฯลฯ ชื่อร้าน เซ่งไท้จั่ง
"เถ้าแก่เป็นคนดีมาก ลูกสาวของเขาจะไปเรียนที่เมืองจีน ไม่มีใครช่วยงานที่ร้าน
ผมกำลังจะสอบ ป. 4 เลยตัดสินใจออกจากโรงเรียนมาทำงาน เงินเดือนครั้งแรก 80
บาท ซึ่งก็นับว่าไม่น้อย" ตอนนั้นกังวาฬอายุ 15 ปี เพราะเหตุที่ครอบครัวโยกย้ายกันบ่อย
จึงดูเป็นนักเรียนโข่ง แต่แล้วก็เลิกเรียน ปฏิเสธวุฒิ ป. 4 เพื่อแลกกับเงินเดือนก้อนโตครั้งแรก
(ขณะนั้น) อันเป็นจุดเริ่มต้นเก็บหอมรอมริบ จากการทำงาน 3 ปี เขามีเงินเก็บเกือบ
3 หมื่นบาท
เขาเริ่มทำธุรกิจครั้งแรกเมื่ออายุ 19 ปี (ปี 2497) ลงขันกับเพื่อนคนละ
2.5 หมื่นบาท ตั้งบริษัทซิหย่งฮง ที่เรียกกันว่า "ร้านหยง" (นายหน้า)
ค้าขายสินค้าพืชไร่ สินค้าหลักได้แก่ถั่ว
"ร้านของเราตั้งอยู่ที่นี่ ที่บริษัทนานาพรรณฯ ปัจจุบัน เดิมเป็นบ้านไม้
เป็นแพสำหรับขนผักที่ใหญ่ที่สุดขณะนั้น" กังวาฬชี้ไม้ชี้มือตรงที่ตนเองนั่งอยู่ประกอบ
5-6 ปี ต่อมา เพื่อนคนหนึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งเป็นลูกค้าประจำซื้อสินค้าจากกังวาฬ
มาชวนทำธุรกิจส่งออก เขาเองพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย เขากับเพื่อนจับธุรกิจส่งออกสินค้าพืชไร่ครั้งแรก
ด้วยการส่งออกมันสำปะหลัง ทำไปทำมา 2-3 ปี ก็เจ๊ง
ช่วงนั้นเองที่กังวาฬพบกับสุรพล อัศวศิรโยธิน อดีตผู้นำธุรกิจส่งออกอีกคนหนึ่ง
ที่มีประสบการณ์โชกโชน ติดอันดับ "เจ้ายุทธจักร" รุ่นก่อนกังวาฬ
สุรพลเคยรุ่งโรจน์อย่างมาก แต่วันนี้เขากลับ LOW PROFILE ไปอย่างเหลือเชื่อ
(ในโอกาสอันควร "ผู้จัดการ" คงจะต้องนำเรื่องของเขามาเขียนบ้าง)
กังวาฬกับสุรพลขณะนั้นเป็นหนุ่มไฟแรงทั้งคู่ ดำเนินธุรกิจการค้าส่งออกอย่างโลดโผน
"ตอนนั้นผมร่วมกับคุณสุรพลเช่าเรือมาจากต่างประเทศเพื่อส่งสินค้าบริษัทอี๊สต์เอเซียติ๊ก ตื่นเต้นมาก
การส่งออกในช่วงนั้นผู้ส่งออกส่วนใหญ่ใช้เรือของอี๊สต์เอเซียติ๊ก เพราะหัวโจกสองคนนี้
อี๊สต์เอเซียติ๊กจึงลดค่าระวางลงมา เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเจ๊ง พร้อมกับมีหนี้ประมาณ
1-2 ล้านบาท" กังวาฬเล่าอย่างขำ ๆ แต่ตัวเองหัวเราะไม่ออก
เขาเริ่มต้นอีกครั้งพร้อม ๆ กับการแต่งงาน และด้วยความหนุนช่วยของแม่ยาย
กังวาฬจึงได้เงินก้อนหนึ่งเดินงานค้าขายภายในต่อไป พักงานค้าส่งออกชั่วคราว
"ผมรู้จุดอ่อนของผมคือพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จึงเริ่มศึกษาด้วยตนเองอย่างจริงจัง"
ล้มยักษ์ญี่ปุ่นครั้งแรกสำเร็จ
ปี 2508 กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ เริ่มตั้งบริษัท นานาพรรณเอ็นเตอร์ไพร้ซ
จำกัด ดำเนินธุรกิจส่งออกพืชไร่ โดยเฉพาะละหุ่งและถั่ว อันเป็นจุดที่ความไม่พอใจพฤติกรรมผู้นำเข้าญี่ปุ่นก่อตัว
เพราะสินค้า 2 ชนิดนั้นพึ่งตลาดญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่
"ในระยะนั้นการส่งออกของเราเห็นญี่ปุ่นเป็นเทวดา ญี่ปุ่นซื้อแสดงว่าเรามีความสามารถ
คิดว่าสามารถเข้าตลาดโลกได้แล้ว แต่ที่จริงเรารับใช้ญี่ปุ่นโดยไม่รู้ตัว
ญี่ปุ่นมักจะเล่นเกม" ผู้ส่งออกรุ่นปัจจุบันที่เคยมีประสบการณ์ค้ากับญี่ปุ่นช่วงนั้น
มีความเห็นค่อนข้างสอดคล้องต้องกันเช่นนี้ รวมทั้งกังวาฬด้วย
"ผู้ส่งออกของเราไม่มีความรู้เท่าที่ควร ข้อมูลต่าง ๆ มีน้อย ญี่ปุ่นจึงได้เปรียบ
พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวไร่ละหุ่งเทสินค้าออกขายมาก ญี่ปุ่นฉวยโอกาสซื้อมากเช่นกัน
ผู้ส่งออกโลภมากก็ขาย คิดว่าขายให้ญี่ปุ่นแล้วมีฝีมือ ที่ไหนได้ สินค้าอยู่ในมือ
1 หมื่นตัน ขายไปได้ 3 หมื่นตัน ผลสุดท้ายต้องมาแย่งซื้อละหุ่งจากชาวไร่ราคาสูงขึ้น
ผลก็คือไปรับใช้ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเองก็ต้องการให้ราคาขึ้น เราจะได้ฆ่ากันเอง
เราขาดทุนบางรายขาดทุนมาก็มาเบี้ยวไม่ยอมส่งผู้ส่งออก เสียชื่อเสียงมาก"
กังวาฬร่ายยาวเกี่ยวกับสถานการณ์ช่วงนั้น ผู้อยู่นอกวงการหรือไม่ได้ติดตามเรื่องราววงการค้าพืชไร่อย่างต่อเนื่องก็อาจจะสับสน
"ผู้จัดการ" ขอขยายความอีกนิด โดยปกติต้นฤดูเก็บเกี่ยวสินค้าพืชไร่ออกมาสู่ตลาดมากกว่าปกติ
ราคาจะตกเพราะ OVER SUPPLY ญี่ปุ่นฉวยโอกาสซื้อตอนนี้เนื่องจากราคาจะต่ำกว่าทุกระยะ
โดยทำสัญญาล่วงหน้าจำนวนมาก มากกว่าสต๊อกของผู้ส่งออกที่ระดมซื้อในช่วงนั้น
ข่าวนี้ถูกปล่อยออกไปในตลาดให้รู้กันทั่ว พอถึงเวลาส่งมอบ ผู้ส่งออก (หลายราย)
ก็ต้องออกมาระดมซื้อสินค้าที่อยู่ในมือชาวไร่หรือพ่อค้าต่างจังหวัด ราคาจึงทะยานขึ้นตามแรง
OVERDEMAND ปรากฏการณ์เช่นนี้ สิ่งที่ตามมาคือ ผู้ส่งออกขาดทุนทั่วหน้า เพราะต้องซื้อสินค้าราคาสูงส่งมอบตามสัญญาขายต่างประเทศราคาต่ำ อีกประการหนึ่งผู้นำเข้าญี่ปุ่นก็ต้องการให้ราคาช่วงสินค้าไปถึงผู้ใช้ในญี่ปุ่นสูง
เพราะจะทำให้ผู้นำเข้าขายสินค้าในราคาสูงขึ้น โดยอ้างราคาในตลาดผู้ขาย (ประเทศไทย)
เหตุผลประการสุดท้ายค่อนข้างลึกซึ้งกว่าที่เคยรู้กันมาตลอดเวลาว่า ผู้นำเข้าญี่ปุ่นพยายามกดราคารับซื้อสินค้าพืชไร่จากไทย
"ครับ ถูกต้อง เขากดราคาช่วงรับซื้อและเซ็นสัญญาซื้อขาย พอช่วงส่งมอบก็จะปั่นตลาดราคาให้สูงขึ้น"
กังวาฬผู้รู้จักญี่ปุ่นมากว่า 20 ปี แฉ
เพราะการที่ผู้ส่งออกขาดทุนอย่างหนักนี่เอง เมื่อมีการเรียกร้องให้รวมตัวจึงสำเร็จโดยง่าย
กังวาฬกับสุรพลเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงระดมผู้ส่งออกละหุ่งไปญี่ปุ่นเกือบทุกรายลงขันตั้งบริษัท
รวมพ่อค้าพืชผลไทยหรือที่เรียกกันว่าไทยอาโกรฯ โดยมีข้อตกลงว่า นับจากนี้การส่งออกละหุ่งไปญี่ปุ่นจะต้องผ่านบริษัทนี้ท่านั้น
ปีนั้นเป็นปีที่ประเทศไทยมีผลผลิตละหุ่งมากเป็นประวัติการณ์ปีหนึ่ง ไทยอาโกรฯ
จึงระดมซื้อมาอยู่ในมือถึง 4-5 หมื่นตัน หรือประมาณ 80% "เราโชคดีที่แบงก์ปล่อยเงินให้กู้เพื่อสต๊อกละหุ่ง
ในการสต๊อกคราวนั้นต้องใช้เงินประมาณ 1-200 ล้านบาท" กังวาฬบอก "ผู้จัดการ"
ผู้นำเข้าญี่ปุ่นแค้นขึ้นหน้า จึงประกาศไม่ซื้อละหุ่งจากไทยอาโกรฯ ขณะเดียวกันก็ใช้ยุทธวิธีหนุนผู้ส่งออกบางรายขึ้นมาแข่ง
สามารถซื้อละหุ่งได้บ้างแต่ไม่มาก ว่ากันว่าผู้ส่งออก 2-3 ราย ที่รับใช้ญี่ปุ่นคราวนั้นได้กำไรเป็นกอบเป็นกำทีเดียว
เนื่องจากแรงกดดันที่ไม่ซื้อสินค้าจากไทยอาโกรฯ มีผลทำให้ราคาละหุ่งในตลาดสูงมาก
แต่กังวาฬไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อผู้ส่งออกจำนวนดังกล่าว "มันเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว
ที่แล้วก็ให้แล้วกันไป"
การต่อสู้ประเภท "กลั้นใจใต้น้ำ" แข่งกันดำเนินไปข้ามปี จนธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำการปรับไทยอาโกรฯ
ฐานไม่สามารถคืนเงินกู้ (ดอกเบี้ยต่ำ) ได้ตามกำหนดเวลา
"ผมรู้จักคุณอบ (วสุรัตน์) ตอนนั้นผมไปหาท่าน ขณะนั้นท่านเป็นประธานหอการค้าฯ
บอกว่าถ้าแบงก์ชาติไม่ผ่อนผันเราเจ๊งแน่ ญี่ปุ่นก็จะหัวเราะเยาะท่านบอกว่าลื้อท่าจะบ้าแล้ว!
ถึงท่านด่าก็ด่า แต่ท่านก็ช่วย ลื้อมาหาอั๊ว 7 โมงเช้า อั๊วนัด ดร. เสนาะ
(อูนากูล) ไว้แล้ว" กังวาฬเล่าอย่างมีสีสัน ถึงการสนทนาของเขากับ อบ
วสุรัตน์ ขณะนั้น ดร. เสนาะ อูนากูล เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
กังวาฬบอก หากไม่มีบุคคลทั้งสองเขาอาจไม่มีวันนี้!
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะผ่อนผันเลื่อนเวลาส่งเงินคืนออกไป
ทว่าทางยังมืดมนอยู่ดี แต่แล้วจู่ ๆ ก็มีเทเล็กซ์จากอังกฤษผ่านมาทางบริษัทกู๊ดเยียร์
ว่ามีความต้องการซื้อเม็ดละหุ่ง "ตอนนั้นซีกโลกด้านตะวันตกขาดแคลนละหุ่งป้อนโรงงาน
จนจะปิดโรงงานกันอยู่แล้ว ตอนนั้นข้อมูลเราไม่ดีพอ ยังไม่ก้าวหน้าเช่นทุกวันนี้"
ผู้สันทัดกรณีคอมเมนต์ สิ่งที่กังวาฬพูดว่า "ดวงดี"
"นับว่าดวงเรายังดี ความจริงกู๊ดเยียร์ขายแต่ยางรถยนต์ไม่เคยขายละหุ่ง
เขาอาจจะรู้เรื่องของเราจากหน้าหนังสือพิมพ์ ผมเริ่มเป็นที่รู้จักของหนังสือพิมพ์ครั้งนั้นเป็นครั้งแรก
เนื่องจากต่อสู้กับญี่ปุ่น" กังวาฬคุย
ในที่สุดกังวาฬกับสุรพลจึงเหินฟ้าไปอังกฤษเพื่อเจรจาขายละหุ่ง ทั้งที่คนทั้งสองพูดภาษาอังกฤษชนิด
"พอเป็น" เท่านั้น
แท้ที่จริงคนอังกฤษที่เทเล็กซ์มาเป็นโบรกเกอร์ เขาเป็นคนพากังวาฬกับสุรพลไปหาผู้ซื้อซึ่งเป็นโรงงานสกัดน้ำมันละหุ่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเยอรมนีชื่อ
DRODEUTCHE RIZINUS-GELFABRIK BOLEX & CO. ก็รู้อยู่แล้วว่าเขาดูถูกคนไทย
ผมบอกว่าจะขายให้ทันที 3 หมื่นตัน เขาไม่เชื่อหาว่าเราโกหก สุดท้ายเราบอกว่าคุณไม่ต้องเชื่อ
คุณเปิดแอล/ซีไป ผมจะส่งให้ทันที 4 พันตัน"
เมื่อสินค้าจำนวนนั้น ถึงมือเยอรมนีทุกอย่างจึงสะดวกขึ้น กังวาฬกับสุรพลจึงเดินทางลัดฟ้าอีกครั้งเป็นครั้งที่สอง
กังวาฬบอก "ผู้จัดการ" ว่าได้รับการต้อนับอย่างดีผิดกับครั้งแรก
ทั้งสองจึงพลิกกลยุทธ์การตลาดอย่างง่าย ๆ บอกเยอรมนีว่าหากไม่ซื้อจะขายให้ญี่ปุ่น
เป็นอันว่าเยอรมนีตกลงซื้อเป็นระยะ ๆ พร้อม ๆ กับไทยอาโกรฯ พยายามเรียกราคาสูงขึ้นเป็นลำดับ
"ขณะนั้นเยอรมนีกับญี่ปุ่นขัดแย้งกัน เนื่องจากญี่ปุ่นฉีกสัญญาสภาพบุรุษเข้าไปซื้อละหุ่งข้ามโซนตามสัญญาสุภาพบุรุษ
ว่ากันตามที่จริงเยอรมนีชั้นเชิงการค้าสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ ต่อมาพอญี่ปุ่นได้ข่าวว่าเราขายละหุ่งให้เยอรมนี ได้
ญี่ปุ่นตกใจมาก" กังวาฬจำเหตุการณ์ประทับใจครั้งนั้นได้ดีมาก พยายามถ่ายทอดอย่างละเอียด
ในที่สุดญี่ปุ่นก็กลับมาหาไทยอาโกรฯ เจรจาซื้อขายกันใหม่ "ตอนนั้นเองผมเริ่มรู้จักนิสัยการค้าของญี่ปุ่น
เขาไม่เคยโกรธใครอย่างเอาเป็นเอาตายหรอก ตราบใดที่ผลประโยชน์เกิดขึ้น เขาเคยดูถูกเรา
เขาก็มาหาเรา เราซึ่งเริ่มเป็นมวยบอกว่าไม่เป็นไร ทุกอย่างขอให้เหมือนเดิม
ผลสุดท้ายแทนที่จะซื้อคนเดียวก็มีสองคน เราสามารถ CONTROL ตลาดและราคาตามใจชอบ
กลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไทยอาโกรฯ ได้กำไรมาก เป็นที่พอใจของผู้ร่วมหุ้น
จนสามารถคืนเงินแบงก์ชาติได้ทั้งหมด" กังวาฬเล่าไปยิ้มไป
กังวาฬเล่าว่าจากประสบการณ์ที่ลงเอยด้วยชัยชนะครั้งนั้น ทำให้พบทางออกในการแก้ปัญหาการตลาดละหุ่งในระยะยาว
เนื่องจากพะวงว่าสักวันหนึ่งอาจจะพลาดท่าญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นคู่ต่อสู้ที่ดูเบาไม่ได้
ดังนั้นเราจึงเจรจาชักชวนให้ญี่ปุ่นมาตั้งโรงงานสกัดน้ำมันละหุ่งในประเทศไทย
"แต่คนญี่ปุ่นก็ยังเป็นญี่ปุ่น ใจแคบ" กังวาฬสรุปบทเรียนช่วงต่อกับ
"ผู้จัดการ" ก่อนจะเล่าเหตุการณ์
"เราจะเริ่มเจรจากับโรงงานสกัดน้ำมันละหุ่งที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นชื่ออีโต้เซอิว
ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเมล็ดละหุ่งรายใหญ่จากประเทศไทย กว่าจะรู้ว่าญี่ปุ่นหลอกเราก็
2-3 ปี ญี่ปุ่นเห็นแก่ตัวเพราะรู้ว่าหากตั้งโรงงานในไทย โรงงานในญี่ปุ่นก็จะไม่มีวัตถุดิบป้อน
เนื่องจากเขาต้องพึ่งวัตถุดิบจากเราถึง 80% คุยกันนานมาก ญี่ปุ่นดึงเกม ทีแรกเราไม่รู้
ผมก็ไปขอให้ผู้ใหญ่ของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมช่วยเจรจาอีกแรง ผลที่สุดถูกญี่ปุ่นหลอกกันหมด"
ต่างกันราวหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อกังวาฬเปลี่ยนไปเจรจากับผู้ซื้อรายเดิมที่เยอรมนี
ปรากฏว่า การเจรจาตกลงกันอย่างง่ายดาย "ผมบอกว่าประเทศไทยจะเป็นฐานให้เยอรมนีเชื่อมตะวันออกกับตะวันตก
เขาจะสามารถคุมโลกได้ หากเยอรมนีไม่มา เราจะไปชวนญี่ปุ่น เดี๋ยวญี่ปุ่นมาคุมโลก"
บริษัทสยามน้ำมันละหุ่งก่อตั้งเมื่อปี 2515 โดยการร่วมทุนระหว่างไทยกับเยอรมนี
(DRO-DUETCHE RIZINUS-OEL-FABRIK BOLEY & CO) ผู้ถือหุ้นคนไทยมีผู้ใหญ่หลายคน
ตั้งแต่สมหมาย ฮุนตระกูล ประธานกรรมการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม (ไอเอฟซีที)
สุกรีย์ แก้วเจริญ กรรมการผู้จัดการไอเอฟซีที โดยมีอบ วสุรัตน์ เป็นประธานกรรมการในครั้งแรก
สุรพล อัศวศิริโยธิน เป็นรองประธาน กังวาฬเป็นกรรมการผู้จัดการ ต่อมาเมื่ออบ
วสุรัตน์ เป็นรัฐมนตรี สุกรีย์จึงมาเป็นประธานบริษัทแทนจนถึงปัจจุบัน
ผู้ถือหุ้นใหญ่ประกอบด้วย DRO-DUETCHEฯ 35% กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ และบริษัทรวมพ่อค้าไทยอุตสาหกรรม
34% และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประมาณ 15% สยามน้ำมันละหุ่งเป็นโรงงานสกัดน้ำมันละหุ่งรายแรกและรายเดียวของประเทศไทย
ครั้งที่สองล้มญี่ปุ่นไม่สำเร็จ จนตัวเองเกือบล้ม
ประมาณปี 2518 มรสุมการค้ากระหน่ำผู้ส่งออกถั่วเขียวผิวมันไปญี่ปุ่น ดุจเดียวกับละหุ่งเมื่อ
10 ปีก่อน
"เราประสบความสำเร็จเรื่องน้ำมันละหุ่งก็มีความภาคภูมิใจมาก อาจเรียกได้ว่าผมประมาท
ก็เริ่มบุกเรื่องถั่ว ระดมซื้อแบบเดียวกับละหุ่ง แต่ก่อนจะซื้อเราทำการสำรวจผลผลิตต่างจังหวัด
ซึ่งมารู้ทีหลังว่าข้อมูลที่สำรวจผิดพลาด ผลผลิตมีมากกว่าที่คาดไว้มาก"
กังวาฬใช้ชื่อบริษัทนานาพรรณเอ็นเตอร์ไพร้ซ์ของเขาคนเดียวดำเนินกิจการทำสต๊อกถั่วเขียวผิวดำประมาณ
4-5 หมื่นตัน หรือเป็นจำนวนเกือบทั้งหมดใช้เงินประมาณ 4-500 ล้านบาท โดยกู้เงินจากธนาคาร
และระดมจากส่วนตัวและครอบครัวอันเกิดจากการสะสมตลอดชีวิต งานนี้เดิมพันด้วยชีวิตและอนาคตของเขาและครอบครัวทีเดียว
แต่แล้วผลที่เขาได้รับคือประสบการณ์ขาดทุนยับประมาณ 500 ล้านบาท เมื่อเกือบสิบปีก่อนเป็นเงินไม่ใช่น้อย
เหตุผลง่ายๆ คือญี่ปุ่นไม่ยอมซื้อถั่วเขียวจากเขา ในขณะที่ถั่วของเขาค้างสต๊อกจนเสื่อมคุณภาพ ญี่ปุ่นยังอยู่ได้
เพราะสามารถหาซื้อจากผู้ส่งออกรายอื่นได้บ้าง ทั้งในและต่างประเทศ
กังวาฬสรุปบทเรียนความพ่ายแพ้จนทำให้เขาต้องเริ่มต้นที่ศูนย์อีกครั้งไว้
4 ประการ คือ หนึ่ง-คาดการณ์ปริมาณผลผลิตผิดพลาด สอง-ตลาดถั่วฯ แคบมาก นอกเสียจากญี่ปุ่นแล้วแทบไม่มีที่อื่น
หรือก็ซื้อน้อยมาก สาม-ถั่วฯ เสื่อมคุณภาพเร็วมากเมื่อเทียบกับละหุ่ง ละหุ่งสามารถเก็บได้ถึง
3-4 ปี ในขณะที่ถั่วฯ เพียงข้ามปีคุณภาพก็เสื่อมขายไม่ได้ราคาแล้ว สี่-เขาดำเนินการเพียงคนเดียว
ไม่มี "แนวร่วม" เหมือนครั้งก่อน ตรงจุดนี้บางรายวิจารณ์ว่า "คุณกังวาฬโลภมากจึงทำคนเดียว
เลยเจ๊งคนเดียว"
ในขณะที่เขาเหนื่อยมาก ต้องวิ่งเข้าออก 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์
ศรีนคร และธนาคารกรุงเทพ "ผมต้องขอร้องให้เขาผ่อนผันหนี้ผม ซึ่งทุกคนก็ดีใจหาย
คุณชิน แบงก์กรุงเทพ คุณวิเชียร เตชะไพบูลย์ แบงค์ศรีนคร และคุณประกิต ปะทีประเสน
แบงก์ไทยพาณิชย์" เมื่อมองในมุมกลับหรือด้านดี สถานการณ์เลวร้ายนั้นได้
"บีบ" ให้นานาพรรณฯ ขยายกิจการไปในทิศทางที่เขาสามารถยืนอยู่ได้อย่างสง่าผ่าเผยปัจจุบันนี้
"ของตายอย่าไปนึกถึงมัน" นี่คือยุทธวิธีของกังวาฬ นานาพรรณเริ่มหันเหส่งออกข้าวโพดด้วยการสร้างไซโลแบบ
"นกกระจอก สร้างรังแต่พอตัว" เพื่อการส่งออกโดยเฉพาะเป็นแห่งแรก
ที่ว่าแห่งแรก เพราะไซโลช่วงนั้นเป็นไซโลบริการเพื่อการส่งออกและเก็บค่าบริการโดยผู้ส่งออกไม่มีไซโลเป็นของตนเอง
"เราสร้างขนาดเล็กจนคนในวงการมองข้าม เขาจึงปล่อยให้เราโต กว่าเขาจะเอะใจอีกครั้งเราก็โตพอที่ยืนได้บ้างแล้ว"
กังวาฬเล่า
ส่วนถั่วฯ ที่เหลือนั้นกังวาฬมุ่งหน้าสู่อินเดีย เป็นผู้ส่งออกรายแรกอีกเช่นกันที่เปิดตลาดอินเดียสำเร็จ
"เขาไม่มีตังค์เราก็ให้เครดิต กว่าระบายถั่วออกหมดต้องใช้เวลา 3-4 ปี"
ผลของการเป็นผู้บุกเบิกตลาดถั่วฯ ที่อินเดีย ยังตามเก็บดอกผลจนถึงทุกวันนี้
เมื่อปี 2528 อินเดียแห้งแล้งขาดแคลนถั่วเขียวผิวดำอย่างหนัก ต้องมาซื้อจากไทยมากเป็นประวัติการณ์
ตัวเลขส่งออกระบุว่าซื้อจากนานาพรรณมากที่สุดประมาณ 90%
เมื่อคู่ปรับ "ร่วมทุน" กัน
คู่ปรับของกังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ ที่ทำให้นานาพรรณกรุ๊ปต้องขาดทุนจำนวนมากนั้น
มี
ชื่อบริษัทคาโช่แห่งประเทศญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย เป็นเทรดดิ้งคัมปะนี ที่มีอายุกว่า
60 ปี ของญี่ปุ่นมีสาขาทั่วโลก อาทิ ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส ในสหรัฐ, สิงคโปร์,
จาการ์ตา, ฮ่องกง, ปักกิ่ง และกรุงเทพฯ ซึ่งใช้ชื่อว่า KASHO & SAMNONG
(THAILAND) ก่อตั้งเมื่อปี 2520 โดยมีกังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ เป็นประธานบริษัท
ปัจจุบันคาโซ มี K. ISHIKAWA เป็น PRESIDENT "คนนี้อดีตเขาเป็นนายกสมาคมนำเข้าถั่วเขียวผิวดำของญี่ปุ่น
อายุไล่เลี่ยกับผม เป็นนักเรียนสหรัฐฯ ความคิดก้าวหน้ามาก เขาเคยตีผมเจ็บมากจนเกือบจะล้ม
แต่เราก็เป็นเพื่อนกัน เพราะเรามี CONCEPT เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องส่วนตัว
ค้าขายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง" กังวาฬว่า ส่วนสาขาในประเทศไทยชื่อ KASHO
& SOMNONG (THAILAND) นั้น กังวาฬ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ซัมนง
เป็นเพื่อนผมอยู่ฮ่องกง เขาเป็นชาวไต้หวันพูดภาษาญี่ปุ่นดีมาก แต่มาได้ดีที่ฮ่องกง
เขาเป็นตัวแทนบริษัทคาโช่ที่ฮ่องกงซื้อสินค้าจากจีนแดง กับผมสนิทกันมาก"
"ยุทธวิธีของเราคือให้ญี่ปุ่นดึงญี่ปุ่น" ถาวร ตันติพงศ์อนันต์
น้องชายของกังวาฬ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น BRAIN ของกรุ๊ปกล่าวถึงที่มาของการดึงญี่ปุ่นมาร่วมทุนในบริษัทไทย
คาวาเคน ซึ่งผลิต ARTIFICIAL WAX อันเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากน้ำมันละหุ่งกับ
"ผู้จัดการ"
ถาวรเล่าว่าเมื่อสามารถดึงคาโช่มาเป็น "แนวร่วม" ได้ทั้งนี้ด้วยเห็นว่าการตั้งโรงงานเช่นนี้ในประเทศไทย
ต้นทุนต่างจะลดลงกว่า 20% คาโช่จึงเป็นผู้ไปเจรจากับ KAWAKEN FINE CHEMICALS
CO., LTD.
"เราไม่มีทางต่อสู้กับญี่ปุ่นได้ หากเราไม่ญี่ปุ่นเป็นพวก" ถาวรพูดในมุมกลับ
ทำให้นึกถึงเรื่องกังวาฬ "ด่า" เจฟต้า
อย่างไรก็ดี ต้องใช้เวลานานนับปีทีเดียวกว่าจะตกลงกัน สุดท้ายตั้งโรงงานในประเทศไทย
เริ่มตั้งบริษัทไทยคาวาเคน จำกัด เมื่อเดือนกันยายน 2527 โดยใช้เวลาก่อสร้างโรงงานประมาณ
1 ปี เปิดเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2528
บริษัทร่วมทุน ฝ่ายไทยได้แก่บริษัทสยามน้ำมันละหุ่งถือหุ้น 51% KASHO COMPANY
4% และ KAWAKEN FINE CHEMICALS Co., Ltd 45% สำหรับการบริหารงานนั้น ญี่ปุ่นกับสยามน้ำมันละหุ่งส่งกรรมการผู้จัดการมาทำงานคู่กัน
ตรงจุดนี้ เป็นจุดที่น่าสังเกตอันสำคัญ สยามน้ำมันละหุ่ง ภายใต้การนำของกังวาฬ
ได้พลิกกลยุทธ์ สมกับได้ชื่อว่า "รู้จัก" ญี่ปุ่นดีที่สุดคนหนึ่ง
"เราให้ตัวแทนของเยอรมนีในบริษัทสยามน้ำมันละหุ่งเป็นกรรมการผู้จัดการคู่กับญี่ปุ่น
โดยที่เราไม่แจ้งก่อนการเซ็นสัญญา" ถาวรซึ่งรู้เรื่องดีทุกขั้นตอนบอก
"ผู้จัดการ" ถึงกลยุทธ์อันล้ำลึก
"ทั้งญี่ปุ่นและเยอรมนี ต่างฝ่ายคิดว่า TECHNOLOGY ของตนไม่แพ้กัน
เมื่อประกบกันเป็นการคานอำนาจกันได้ ส่วนเราอยู่เบื้องหลัง"
เรื่อง TECHNOLOGY นั้นญี่ปุ่นดูถูกไทยว่าไม่สามารถเทียบเขาได้ ถาวรว่านั้นเป็นจุดที่ต้องระวังการได้เปรียบเสียเปรียบในการบริหารที่จะเกิดขึ้นจึงต้องใช้เยอรมนีชนญี่ปุ่น
"ญี่ปุ่นชอบประชุม เรื่องอะไร ๆ ก็ต้องเข้าประชุม รู้แทบทุกขั้นตอน
ส่วนเยอรมนีไม่ชอบประชุม แต่เวลาถกเถียง เยอรมนีเป็นคนรุนแรง" ถาวรเชื่อว่า
การร่วมทุน 3 ฝ่ายในลักษณะเช่นนี้ของไทยคาวาเคนนั้น ทำให้ไทยได้ประโยชน์ที่สุด
"ผมถือว่าเราต้องทำตัวให้กว้างไว้ โดยเอาตัวเองเข้าไปในเทคโนโลยีสมัยใหม่
พร้อมจะรับทุกฝ่าย ไม่เกาะติดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะนี้ผมกำลังทาบทามลูกค้าของเรารายหนึ่งในสหรัฐฯ มาร่วมลงทุนด้วย"
ถาวรแย้มให้ฟังตอนท้าย
กรณีที่กังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ "ต่อสู้" กับเจฟต้านั้นยืดเยื้อมาถึงเดือนมีนาคม
2529 จนเรื่องเข้าสู่ระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ทุกอย่างดูเหมือนหยุดลงชั่วคราว
แต่ผลที่ได้รับในด้านกว้างนั้น กังวาฬได้ใช้ "ข้อมูล" จริง ๆ ที่เขาประสบด้วยตนเอง
จากกรณีซูมิโตโม มา "ตีแผ่" ผู้นำเข้าญี่ปุ่นหลายราย
เจฟต้ามีสมาชิกซึ่งเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์จำนวนมาก ส่วนที่เอางานเอาการจริง ๆ
มีประมาณ 20 ราย ในจำนวนนี้แบ่งออกเป็นสองปีก หนึ่ง-ปีกที่ค้านการค้าเสรี
หรือค้านซื้อข้าวโพดจากไทย อาทิ มิตซุย มารูเบนิ โตโยเมนกา ซี.อีโต้ ฯลฯ
เพราะกลุ่มนี้ลงทุนด้านไซโลในสหรัฐฯ ไว้มาก หากผู้นำเข้าญี่ปุ่นมาซื้อข้าวโพดซึ่งราคาถูกกว่า
ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ย่อมแตกต่างหรือถูกกว่าซื้อข้าวโพดจากสหรัฐฯ ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันขึ้น
กลุ่มนี้ "ผูกพัน" กับสหรัฐฯ ประเภทถอนตัวไม่ขึ้น ย่อมไม่ยอมง่าย ๆ
สอง-กลุ่มที่ต้องการซื้อข้าวโพดไทย เพราะทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ถูกลง
การต่อสู้กับเจฟต้าของบรรดาผู้ส่งออกข้าวโพดไทย เริ่มเข้มข้นมาเรื่อย ๆ
ตั้งแต่ปลายปี 2527 นับจากเมืองไทยมีแนวโน้มผลิตข้าวโพดเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
เป็นความจำเป็นโดยธรรมชาติต้องมีตลาดกว้างขึ้นรองรับ ขณะเดียวกันสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ทำข้อตกลงเป้าหมายการค้าข้าวโพดกับญี่ปุ่นปีละประมาณ
3 แสนตันมาตลอด แต่ความจริงญี่ปุ่น "บิดพลิ้ว" ตลอดเวลา นับว่าเป็นสินค้าชนิดเดียวที่ญี่ปุ่นทำตามข้อตกลงชนิดห่างเป้าไม่เห็นฝุ่น
ปี 2528 ผู้ส่งออกข้าวโพดไทย "กดดัน" เจฟต้าให้ซื้อหรือตกลงผ่านสมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทย
แต่ญี่ปุ่นก็บ่ายเบี่ยง ด้วยข้ออ้างต่าง ๆ นานา ผลลงเอยที่ผู้ส่งออกไทยความคิดเห็นแตกแยก
ไม่สามารถรวมกันติด ต่างกับญี่ปุ่นซึ่งดูเหมือนเจฟต้าจะ "เกาะตัว"
แน่นหนาเหลือเกิน
เราพ่ายแพ้มาตลอดเพราะผู้ส่งออกไทยรวมตัวกันไม่ติด จนมาถึงปลายปี 2528 เจฟต้าถูก
"รบเร้า" และ "กดดัน" หนักเข้า จึงตกลงซื้อข้าวโพดไทยไปทดลองก่อนประมาณ 6 พันตัน หลังจากนั้นทุกคนก็ตั้งตารอว่าญี่ปุ่นพอใจคุณภาพหรือไม่ "ถ้าคุณภาพเป็นที่พอใจ
เราจะซื้อ" เจฟต้า สัญญาอย่างนั้น
เรื่องดูเหมือนเป็นเพียงคลื่นกระทบฝั่ง!
แต่แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีข่าวว่าซูมิโตโม ซื้อจากนานาพรรณฯ ดังกล่าวข้างต้น
และก็มาถึงกรณีกังวาฬ ตันติพงศ์อนันต์ "ด่า" เจฟต้าเป็นระลอก...
การต่อสู้ได้ยกระดับเชิงคุณภาพแล้ว โดยมีนานาพรรณฯ เป็น "หัวหอก"
ขณะนี้รอเพียงแต่ว่าจะมีคนหนุนและสานต่อมากน้อยแค่ไหนทั้งผู้ส่งออกด้วยกันและรัฐบาล