อย่างไรก็ตาม เรื่องการค้นคว้าของ ดร. จรูญ คำนวนตา ก็ใช่ว่าจะไม่มีผลชักจูงบรรดานักลงทุนและบุคคลในวงการแอลกฮอล์เสียเลยทีเดียว
แหล่งข่าวบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้ายี่ห้อ "สิงห์"
ได้บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "บุญรอดนี่เราแทบไม่มีคนรู้เรื่องยีสต์ที่ดี ๆ
เลย แต่ทางเราก็เคยคิดเหมือนกันที่จะจัดการกับส่าที่เหลือทิ้งปีหนึ่ง ๆ
ถ้าคิดเป็นมูลค่าก็เหยียบหลายร้อยล้านบาทเหมือนกัน แต่คงเป็นเรื่องที่กำลังขบคิดเท่านั้นเองในระดับที่ปรึกษาผู้ใหญ่ของบริษัท..."
ด้านค่ายสุรา "หงส์" ซึ่ง "ผู้จัดการ" ก็ได้รับการเปิดเผยจาก
ชาญวิทย์ ชนะจรัญวิทย์ ผู้จัดการโรงงานสุรา กรมสรรพสามิต ...บริษัทสุราทิพย์โสธรา
จำกัด (จังหวัดฉะเชิงเทรา) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเหล้ายี่ห้อ "หงส์เหมราช"
...ว่า... "อาจารย์จรูญฯ นั้นที่จริงก็มีความใกล้ชิดกับบริษัทเรามาก
จนกลายเป็นที่ปรึกษากลาย ๆ ไปแล้ว เรื่องยีสต์ที่ค้นพบนั้นผมไม่ทราบในรายละเอียด
แต่ที่ว่าบริษัทของเรายังไม่สนใจในเรื่องยีสต์ที่แกค้นพบนั้น ผมคิดว่ามันเป็นเพราะบริษัทของเรามุ่งในการค้าขายเรื่องเหล้าเป็นสินค้าหลัก
แล้วเพิ่งอยู่ในระยะแรกของการลงทุน ในโอกาสต่อไปมันมีความเป็นไปได้มากทีเดียวที่เราอาจจะมีการลงทุนต่อเนื่อง เอาส่วนที่เหลือนั้นไปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มันเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับการผลิตโปรตีนสร้างอาหารสัตว์
ในตอนนี้เท่าที่เราทำผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาหลังจากการหมักแล้ว ก็เป็นการเอามาทำเป็นปุ๋ยครับ
มันมีทั้งแคลเซียมและไนโตรเจนแต่ยังขาดฟอสฟอรัส ก็มีคนมาซื้อปุ๋ยไปจากเรา
ทีนี้ต่อไปหากมีการลงทุนอย่างอื่นที่คุ้มค่ากว่าเราอาจจะเปลี่ยนไป แต่ยังไม่ใช่ในตอนนี้ครับ..."
นั่นเป็นการเปิดเผยของผู้ที่รู้เรื่องเหล้าในด้าน "ผลิต" และ "หมัก"
อย่างดีอีกผู้หนึ่ง
อรรนพ ศรีรัตน์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการศูนย์บริการเบียร์สดของบุญรอดบริวเวอรี่ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ติดตามการค้นคว้าของ ดร. จรูญในเรื่องยีสต์ ให้ข้อสังเกตว่า "เรื่องประโยชน์นั้นมันคงใช้ได้ในเรื่องของการผลิตอาหารสัตว์และผลิตแอลกอฮอล์ในเมืองไทยคงยังทำไม่ได้
เพราะโรงเหล้าเขาคงห่วงเรื่องรสชาติเป็นสำคัญ มันอาจจะมีผลเรื่องรสและกลิ่น
ทุกวันนี้เขาถือว่าก็มีกำไรมหาศาลอยู่แล้ว นอกจากนั้นมันอาจจะต้องมีการลงทุนด้านเครื่องจักรใหม่ด้วย
ระยะนี้คงยังไม่มีใครพร้อม แต่ต่อไปไม่แน่นะเหมือนกัน.."
ธนิต ธรรมสุคติ ซึ่งเป็นหนอนหนังสืออีกราย และปัจจุบันก็รับผิดชอบงานด้านประชาสัมพันธ์ของบริษัทสุราทิพย์
ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า.. "พูดถึงเรื่องพวกนี้ผมสนใจติดตามอ่านข่าวสารมาก
ในตอนนี้ทราบว่าประเทศญี่ปุ่นเขากำลังตื่นตัวกันมากมายทีเดียวสำหรับเรื่องของยีสต์
อย่างผมอ่าน Science Digest ฉบับเมื่อต้นปีนี้เอง มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับยีสต์อยู่เรื่องหนึ่ง
นักวิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่นเขาค้นพบ กลายเป็นเรื่องที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการค้นคว้า
จำได้ว่ามันมีคุณสมบัติที่จะเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นน้ำตาลได้เลย...น่าสนใจทีเดียว
ผมคิดว่าบ้านเมืองเรานั้นมันเป็นเกษตรกรรม วิทยาศาสตร์ด้านนี้เป็นสิ่งเดียวที่คนไทยเราจะล้ำนำหน้าประเทศอื่น ๆ เขาได้ คนไทยเราก็เก่งพอในเรื่องเหล่านี้.."
มีผู้รู้บางรายให้ข้อคิดเกี่ยวกับการค้นคว้าครั้งนี้ว่า "เข้าใจว่าการทดลองของ ดร. จรูญ นั้นยังอยู่ในขั้น "แล็บ เทสท์"... มันเป็นเพียงผลของการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้นเอง ยังสรุปไม่ได้ว่าเชื้อนี้จะสามารถเอามาใช้ได้จริงในอุตสาหกรรม
มันจะต้องมีการทำ "แมส เทสต์" หรืออาจถึงขั้นที่จะต้องมีการทดสอบในโรงงานจริง ๆ กันเลย อย่าลืมว่าห้องแล็บกับในโรงงานนั้นสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน
แต่การที่จะทำการทดสอบในขั้นเป็นปริมาณมาก ๆ หรือในโรงงานนั้น มันจะต้องมีการลงทุนที่สูงมากแกคงขาดการสนับสนุนในจุดนี้.."
แต่จะเป็นยังไง "ผู้จัดการ" นั้นไม่ทราบเหมือนกัน ..ทราบแต่เพียงว่าในตอนค้นพบนั้นเป็นทางญี่ปุ่นให้เงินอุดหนุน...แล้วตอนนี้เป็นบทที่อเมริกาเข้ามาสนับสนุนต่อ
ว่ากันถึง "ให้พยายามเพราะพันธุ์จนสามารถขึ้นในน้ำเค็มด้วย..."