เราลองมาแก้ปัญหาบนกระดาษดูกันหน่อยดีไหม ดูซิว่าสถานะอย่างฟินิคซฯ นี่ถ้าทุกฝ่ายอยากจะทุ่มสุดตัวแก้กันจริงๆ ทำได้ไหม และต้องทำอย่างไร
ก่อนอื่นต้องสมมุติกันว่า ทุกฝ่ายต้องยอมรับที่จะดำเนินการโดยไม่มีข้อโต้แย้ง
(เป็นไปได้หรือไม่ก็ชั่งมันเถอะ - ก็บอกแล้วว่าจะแก้บนกระดาษไง)
ปัญหาตอนนี้ก็คือ หนี้สินล้นพ้นตัว ทำได้เท่าไร ขายได้เท่าไรก็ต้องใช้หนี้หมด
(จะใช้จริงหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่อง?) ไม่ว่าจะลดต้นทุนการผลิตอย่างไรถ้ายังลดเงินต้นไม่ได้ดอกเบี้ยมันก็วิ่งไล่ทบต้นไปทุกวัน
ลองมาดูต้นทุนการผลิตกับราคาขายซิว่าเป็นไง (ตัวเลขต่อไปนี้เอามาจากงบการเงินปี
28 ทั้งนั้น)
ราคาขายเฉลี่ยตอนนี้ก็ตกตันละ 10,800 บาท (คิดจากตัวเลขในงบ 673,563 ล้าน
หารด้วย 62,000 ตัน)
ส่วนต้นทุนการผลิตก็ตกตันละ 12,900 บาท (คิดจากต้นทุนขายบวกค่าใช้จ่ายการขายและบริหาร
และบวกดอกเบี้ย)
แค่นี้ก็รู้แล้วตอนนี้ขาดทุนอยู่แหงซะถึงตันละ 2,100 บาท
ในจำนวนต้นทุนการผลิตนั้นลองมาแยกจะเห็นว่าเป็น
1. ต้นทุนขาย 7,600 บาทต่อตัน (471.206 ล้านหารด้วย 62,000 ตัน) หรือ 59%
ของทั้งหมด
2. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 1,332 บาทต่อตัน (82.584 ล้านบาทหารด้วย
62,000 ตัน) หรือ 10.4% ของทั้งหมด
3. ดอกเบี้ย 3,940 บาทต่อตัน (244.116 ล้านหารด้วย 62,000 ตัน) หรือ 20.6%
ของทั้งหมด
เห็นตัวเลขนี้อย่างนี้ ก็พอรู้แล้วว่าตัวที่หนักจริงๆ คือ ดอกเบี้ยนั่นเองเพราะโครงการขนาดใหญ่อย่างนี้ต้นทุนดอกเบี้ยไม่ควรจะเกิน
15% แต่นี่มากกว่าที่ควรจะเป็นถึง 2 เท่า
ส่วนต้นทุนขายนั้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานโลกอยู่แล้ว ในขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารก็ควรจะลดลงมาได้อีกสัก
20% ถ้ามีการปรับปรุงด้านการจัดการให้ดีกว่านี้
ส่วนตัวเลขราคาขายนั้นพออนุโลมได้ว่า อยู่ในระดับที่เป็นไปได้ แต่ถ้าหากวันข้างหน้ารัฐบาลเลิกเก็บเซอร์ชาร์จเมื่อไร
ก็ต้องปรับราคาลงมาอีกทันทีไม่งั้นก็คงไม่มีใครซื้อเยื่อจากที่นี่ นั่นหมายถึงว่าถ้าตามสมมุติฐานก็ต้องเก็บเซอร์ชาร์จกันตลอดไป?
ทีนี้มาดูทางด้านทุนเรือนหุ้นบ้าง ตอนนี้มีอยู่ 552.4 ล้านบาท แต่มีหนี้สินทั้งระยะสั้นและระยะยาวอยู่
2,600 ล้านบาท ถ้าหากจะเพิ่มทุนเป็น 1,500 ล้านบาทหรือเพิ่มทุนเข้าไปอีก
947.6 ล้านบาท แล้วเอาเงินก้อนนั้นไปชำระหนี้ทันที (หรือจะใช้วิธีแปลงหนี้เป็นหุ้นก็ตาม)
หนี้สินก็จะลดลงมาเหลือ 1,652.4 ล้านบาท
หนี้จำนวนนี้หากคิดดอกเบี้ยให้เหลือเฉลี่ยประมาณ 7% (ซึ่งเป็นอัตราที่ควรจะหาได้สำหรับโครงการใหญ่
ๆ อย่างนี้ แต่ที่ฟินิคซฯ แบกอยู่เวลานี้ประมาณ 12% โดยเฉลี่ย) ก็คือดอกเบี้ยที่จะต้องชำระเพียงปีละ
115.7 ล้านบาทหรือคิดเทียบต่อตัน (62,000 ตันเป็นเกณฑ์) ก็จะเหลือต้นทุนดอกเบี้ยเพียง
1,865 บาทต่อตัน ใกล้เคียงกับที่เราตั้งสมมุติฐานไว้คือประมาณครึ่งหนึ่งของดอกเบี้ยที่เคยจ่ายอยู่ตามเดิม
จากวิธีการนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตเหลือเพียง 7,600 บวก 1,100 บาท 1,865
บาทเท่ากับ 10,565 บาท ต่ำกว่าราคาขายเฉลี่ยที่เป็นอยู่เวลานี้ 235 บาทก็เรียกว่าแค่เสมอตัว
นี่ขนาดตั้งสมมุติฐานให้เพิ่มทุนไปถึง 1,500 ล้านบาท (ซึ่งจะทำได้หรือเปล่าเป็นอีกเรื่องนะ)
และฝ่ายจัดการต้องเก่งมากๆ ขนาดเจรจาให้ลดดอกเบี้ยทั้งหมดลงมาได้เหลือประมาณ
7% แถมให้รัฐบาลคอยเก็บเซอร์ชาร์จเยื่อกระดาษต่อไป ซึ่งถ้าหากจะเพิ่มทุนขึ้นไปแค่
1,200 ล้านบาท ก็จะต้องหาทางลดดอกเบี้ยลงมาให้เหลือสัก 5.5% ซึ่งก็คงเกือบจะเป็นไปไม่ได้
ทำกันอย่างนี้แล้วก็ยังได้แค่เสมอตัว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่ฝ่ายจัดการคุยว่าจะทำกำไรในอนาคตอันใกล้นั้น
มันจะต้องใช้เวลาอีกสักกี่ปี
ใครเก่งวิชาคำนวณช่วยหาคำตอบให้ทีซิ