"พูลวรลักษณ์" กลายเป็นตระกูลธุรกิจที่เข้าครอบครองความเป็นผู้นำของกิจการโรงภาพยนตร์ยุคใหม่ในประเทศไทย
ธุรกิจบันเทิงสาขาหนึ่งที่ยังคงเดินหน้าเติบโตได้ เกือบจะเรียกได้ว่าสวนกระแสกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย
ขั้นตอนยาวนานของความสำเร็จนี้ง่ายดาย หรือยากเย็น บทพิสูจน์ฝีมือของทายาทจำเริญ
พูลวรลักษณ์ กำลังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงฐานอาณาจักรรุ่นพ่อว่าสร้างไว้มั่นคงเพียงใด
กับการสานต่อที่ต้องใช้มากกว่าเวลา ประสบการณ์ และฝีมือ
ภาพยนต์ฮอลลีวู้ด จากบทบาทการแสดงของดาราต่างประเทศชั้นแนวหน้า และเทคนิคการสร้างที่ทันสมัย
หมุนเวียนเข้ามาสร้างความบันเทิงให้กับคนไทย กลายเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
ที่คนไทยส่วนใหญ่บริโภคโดยไม่ได้คำนึงถึงมาตรการประหยัดของรัฐบาลภายใต้คำขวัญ
ใช้ของไทย กินของไทย เที่ยวเมืองไทย ร่วมใจประหยัด เพราะสื่อสาขานี้ ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากภาวะเศรษฐกิจรัดตัวได้เป็นอย่างดี
นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมธุรกิจภาพยนต์ต่างประเทศยังคงเฟื่องฟูอยู่ได้ต่อเนื่อง
จากยุคเศรษฐกิจฟองสบู่โดยไม่แตกสลายตามกันไปเหมือนธุรกิจสาขาอื่น
"เราไม่ถึงกับสวนกระแส เราเปิดตอนนี้ก็จริง แต่ตอนที่เราตอกเสาเข็มก่อสร้างเมื่อปีที่แล้ว
เศรษฐกิจบ้านเราอย่าว่าแต่ปีหนึ่งเลย ตอนนี้สองเดือนก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเราคงไม่สวนกระแส
แต่เราอาจจะพูดได้ว่า เราเป็นธุรกิจที่ยังเปิดได้ตามตารางเวลา ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ จะต้องหยุดไป
เห็นได้จากร้านค้าที่เปิดในโรงหนัง ตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างในร้านค้าเปิดได้หมด
ตามที่วางแผนไว้ มันก็คงเป็นตัวเดียวที่จะบอกได้ว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ธุรกิจเรายังไปได้อยู่
แต่ไม่ได้บอกว่าเราสวนกระแส คงไม่ใช่แบบนั้น"
คำพูดที่เหมือนจะถ่อมตัวจากปากของวิชา พูลวรลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ เมเจอร์
ซีนิเพล็กซ์ เมื่อครั้งเปิดตัวโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์ สุขุมวิท ปลายปีที่ผ่านมา
ทันครบรอบสองปีของการเกิดโรงหนังสไตล์มัลติเพล็กซ์ ในเครือเมเจอร์ที่บริเวณปิ่นเกล้า
ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจที่มีหลายกิจการกำลังปิดตัวเองลงไป
ซีนิเพล็กซ์ (CINEPLEX) มีความหมายมาจากคำว่า Cinema Entertainment Complex
สถานบันเทิงและโรงภาพยนตร์หลายโรงที่มาอยู่รวมกัน พร้อมกับการให้บริการบันเทิงด้านอื่นที่มีความหลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านหนังสือ กีฬาหรือสันทนาการที่รวมอยู่ภายในที่แห่งเดียวกัน
เป็นระบบโรงหนังแบบ Stand Alone รูปแบบใหม่ที่วิชาและเครือเมเจอร์กำลังสร้างให้กลายเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของโรงหนังในเครือปัจจุบัน
เพื่อต่อสู้กับโรงหนังระบบ Multiplex ของ อีจีวี (EGV) หรือ Entertain Golden
Villege Thailand ความร่วมมือระหว่างพันธมิตรรุ่นลูกของเจริญ พูลวรลักษณ์
กับโกลเด้น ฮาร์เวสต์ จากฮ่องกง และวิลเลจ โรดโชว์ จากออสเตรเลีย
ซึ่งโรงหนังระบบมัลติเพล็กซ์มีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2532
และเริ่มเข้ามาเป็นที่นิยมของคอหนังในเมืองไทยเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว
ปรากฏว่าโรงหนังระบบมัลติเพล็กซ์ พลิกโฉมความบันเทิงด้านการชมภาพยนตร์ของไทยอย่างมาก
ปลุกตลาดโรงหนังให้ตื่นตัว หลังจากที่ซบเซาจากช่วงของโรงภาพยนตร์แบบมินิเธียเตอร์ภายในศูนย์การค้า
ซีนิเพล็กซ์ อาจไม่แตกต่างจากระบบ "มัลติเพล็กซ์" ในแง่ของการรวมโรงภาพยนตร์หลายๆ โรงไว้ในที่เดียวกัน โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ฉายภาพยนตร์เรื่องเดียวกันได้หลายโรง
ตั้งเวลาห่างกันประมาณ 15-30 นาที ใช้ระบบเสียงที่เหมาะสมกับภาพยนตร์แต่ละเรื่อง
ด้วยระบบดิจิตอล DTS หรือ SRD (Special Recording Digital) กับโรงภาพยนตร์ที่ถูกสร้างด้วยระบบ
THX (Tomilinson Holman Experiment) จนกระทั่งระบบเสียงล่าสุด SDDS (Sony
Dynamic Digital Sounds)
โรงหนังระบบมัลติเพล็กซ์นี้จะมีบริการด้านอื่น ควบคู่ไปด้วย เช่น ร้านอาหาร
ร้านคอมพิวเตอร์เกมส์ ร้านหนังสือ และร้านขายของที่ระลึก แต่ส่วนมากจะตั้งอยู่ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่
เพื่อเป็นการเสริมซึ่งกันและกันด้านบริการและจำหน่ายสินค้า
เป็นการตีตลาดของโรงหนังแบบมินิเธียเตอร์ ที่อยู่ในศูนย์การค้าซึ่งบูมมาก่อนหน้านี้
โดยการบุกเบิกของจำเริญ พูลวรลักษณ์ บิดาของวิชา
มินิเธียเตอร์ มีที่มาจากการเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ รามคำแหง
ทำโรงหนังเครือ เอ็มจีเอ็ม จนประสบความสำเร็จเมื่อปี 2527
สมัยนั้นจำเริญมองว่า โรงหนังขนาดใหญ่แบบเดิมจำนวนที่นั่งมากกว่าคนดู บางทำเลไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ
การอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีผู้คนจำนวนมากจะช่วยให้มีคนเข้ามาชมภาพยนตร์มากขึ้น
และมีร้านขายของอื่นๆ อยู่ด้วยเป็นแรงเสริม
เมื่อมินิเธียเตอร์เกิดเป็นโรงหนังแบบใหม่ของนักชมภาพยนตร์ จำเริญเลยขยายโรงหนังขนาดเล็กของเขาไปยังห้างสรรพสินค้าที่ลูกชายบริหารอยู่คือ
เวลโก และเซฟโก โรงหนังที่ค่อนข้างไปได้ดีคือที่เวลโก ปิ่นเกล้า
จำเริญแยกตัวออกจากกงสี Co Brother เครือเมโทร ของพี่น้องตระกูลพูลวรลักษณ์
ซึ่งเป็นพี่ชายของจำเริญคือเจริญ บิดาของวิสูตร และวิชัย พูลวรลักษณ์ แห่งค่ายอีจีวี
เป็นประธานอยู่ เป็นครั้งแรกของการทำธุรกิจนอกวงของจำเริญ หลังจากที่ช่วยพี่น้องบริหารงานโรงหนังมาหลายปี
และทำให้พูลวรลักษณ์แยกค่ายกันทำโรงหนัง และกลายเป็นคู่แข่งสำคัญระหว่างกันด้านโรงหนังไฮ-เทคในเวลาต่อมา
การปรับปรุงของเครือเมเจอร์ก็คือ จำเริญ ส่งลูกชายคนเล็กคือวิชาที่เป็นกรรมการผู้จัดการ
บริษัท เวลล์แลนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด มาช่วยบริหารงานโรงหนัง
ด้วยแนวคิดการเป็นนักพัฒนาที่ดิน ประกอบกับความคุ้นเคยกับธุรกิจโรงหนังของผู้เป็นบิดา
วิชามีข้อสังเกตหลายอย่างในการพัฒนารูปแบบโรงหนัง
ทำเลที่ตั้งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะตัวอย่างของโรงหนังในห้างสรรพสินค้าเวลโกเดิม
ย่านปิ่นเกล้า มีผู้ใช้บริการโรงหนังเป็นจำนวนมาก โรงหนังที่มีอยู่ 3 โรงในห้าง
มีลูกค้าอยู่ไม่ขาดสายเพียงแต่ตัวห้างคงสู้เซ็นทรัลที่มาสร้างใหม่ตรงข้ามไม่ได้
แต่ถ้าคิดจะตั้งโรงหนังในห้าง ค่าเช่าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน้อย
5% ธุรกิจโรงหนังเป็นการลงทุนระยะยาวจะหนักเกินไปถ้าต้องแบกภาระต้นทุนค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ทำเลของศูนย์การค้าบางแห่งยังไม่ดีพอ บางที่รถเมล์ผ่านน้อย การเปิดปิดไม่ตรงกับโรงหนังฉายหนัง
ตัวห้างก็ขาดคนเข้ามาเดิน ส่งผลต่อโรงหนังไปด้วย เขาคิดโรงหนังระบบใหม่ของเขาควรเป็นแบบแยกออกมาจากห้างมากกว่า
วิชาเล่าถึงการสร้างแบรนด์เนม "เมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์" เพื่อท้าชิงความเป็นผู้นำด้านการบุกเบิกโรงหนังทันสมัยกลับมา
โดยเป็นการผสมผสานระหว่างความต้องการโรงหนังรุ่นเก่า ขนาดจุที่นั่งมากๆ
กับแบบมินิเธียเตอร์ ที่มีร้านค้ารวมอยู่ด้วยกัน
จะเรียกว่าโชคดีของวิชาหรือไม่ก็ตาม ห้างเวลโก ปิ่นเกล้าเกิดไฟไหม้เมื่อปี
2537 ทำให้วิชามีโอกาสเริ่มพิสูจน์ความคิดของเขา โดยเข้าไปทุบเวลโกทิ้งและสร้างโรงหนัง
รูปแบบ Stand Alone แบบโรงหนังขนาดใหญ่เดิมแต่โรงหนังหลายโรงเหมือนระบบมัลติเพล็กซ์
มีบริการร้านค้า ร้านอาหารเหมือนมินิเธียเตอร์ ด้วยทำเลที่ตั้งของห้างเวลโกเดิม
วิชาคิดว่าโรงหนังที่เกิดขึ้นสามารถเสริมซึ่งกันและกันกับศูนย์การค้าใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เมอรี่คิงส์ พาต้า ตั้งฮั่วเส็ง มีรถเมล์บริการหลายสายเพราะใกล้สถานีขนส่งสายใต้
และสิ่งที่วิชากล้าฟันธงทำโรงหนังแบบ สแตนด์ อโลนก็เพราะดูตัวอย่างจากต่างประเทศว่าไม่มีโรงหนังอยู่ในห้าง
"สิ่งหนึ่งที่เรามองว่าเมืองนอกเขาทำอย่างไร เมืองนอกไม่มีโรงหนังในศูนย์การค้า
เวลาเปิดปิดเขาไม่เหมือนเรา ของเราเป็นไปตามศูนย์การค้า เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์วันนี้
รอบสามทุ่มไม่มีคนดู เพราะศูนย์สองทุ่มก็เงียบแล้ว มาบุญครองต่อให้เป็นทำเลดีแค่ไหน
2 ทุ่มคนก็เริ่มเก็บของเงียบหมดแล้วเพราะความใหญ่ของศูนย์ เราต้องผ่านห้าฟลอร์เพื่อไปดูหนัง
เดินห้าฟลอร์นี่เงียบหมด ผมเห็นว่าไม่ค่อยได้มู้ดเท่าไร"
เมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์ ปิ่นเกล้าจึงกลายเป็นแหล่งรวมความบันเทิงและโรงภาพยนตร์แห่งแรกของเครือเมเจอร์
และเติบโตอย่างต่อเนื่องภายในระยะเวลาเพียงสองปี สร้างพฤติกรรมการบริโภคความบันเทิงรูปแบบใหม่ให้กับคนกรุงเทพฯ
และคนต่างจังหวัดที่ต้องใช้บริการย่านสถานีขนส่งสายใต้
หลักใหญ่สามประการของวิชาที่จะเป็นคาถาให้ห้างสรรพสินค้าประสบความสำเร็จก็คือ
ทำเลที่ต้องเหมาะสม การจัดตั้งภายในโรงภาพยนตร์ต้องดีและหนังที่ฉายมีคุณภาพ
ซึ่งเขาสามารถเข้าไปเลือกจากค่ายผู้ผลิตทุกค่ายในฮอลลีวู้ด
วิชาเน้นให้เห็นว่าเหตุผลที่ เมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์ ปิ่นเกล้า ประสบความสำเร็จเพราะทำเลดี
"ที่ปิ่นเกล้าตอนเป็นเวลโกตลาดโรงหนังดีมากมันปรู๊ฟอยู่แล้วว่าปิ่นเกล้าเป็นตลาดที่ดี
เรามองตลาดปิ่นเกล้าด้วยดีตลอด เรามองว่ารถเมล์ที่จะส่งไปสายใต้นี่ตั้งกี่สาย
ขนส่งเป็นทำเลดี มหาวิทยาลัยก็ดี ปิ่นเกล้ามีธรรมศาสตร์ มหิดล ศิลปากร และมีจังชั่นดูง่ายๆ แถวนั้นศูนย์การค้าเยอะที่สุด"
แผนขั้นต่อมาของการเกิด เมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์ สุขุมวิท กับ รัชโยธิน ได้ประสบการณ์มากขึ้น
ทำเลยังคงเป็นเรื่องนำอยู่เหมือนเดิม ต่อมาก็คือการออกแบบตกแต่งภายในโรงหนังที่เหมาะเจาะทั้งร้านค้า
และโรงภาพยนตร์ ซึ่งไม่จำเจกับแบบที่ปิ่นเกล้า
ที่เหลือเป็นเรื่องของเทคนิคภาพและเสียงที่ต้องให้ทันสมัยและแข่งได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
วิชาพูดถึงทำเลของโรงหนังอีกสองแห่งของเขาว่า "สุขุมวิทเราก็ดูว่านักเรียนเยอะมาก
ม. กรุงเทพ โรงเรียนศรีวิกรม์ โรงเรียนนานาชาติ เอแบค รามคำแหงก็ไม่ไกล รัชโยธินก็มี
ม. เกษตรศาสตร์ จันทรเกษม นักเรียนเยอะมาก สามกิโลจากเซ็นต์จอห์น
สุขุมวิทรถติดเพราะรถไฟฟ้าแต่เป็นเรื่องบวก เรารอได้ปีสองปีเรื่องเล็กมาก
เป็นการรอที่มีค่ามากกับการรอรถไฟฟ้าถ้าเสร็จ สุขุมวิททั้งสายคล่องตัว ในสิงคโปร์เมื่อรถไฟฟ้าเสร็จธุรกิจดีขึ้นสามเท่า
คนจะเพิ่มมากขึ้น จากตรงนี้ไปสยามแค่เจ็ดสถานีไม่เกินสิบห้านาที"
โรงหนังใหม่อีก 2 แห่งเครือเมเจอร์ก็ยังมีความเหมาะสมเพียงแต่วิชายังไม่แน่ใจว่า
สุขุมวิทจะสามารถแย่งลูกค้าจากสยามมาได้ หากแข่งขันไม่สำเร็จ ลูกค้าที่อาจจะเพิ่มขึ้น
3 เท่าตามคาดอาจลดลงไปก็ได้ เพราะการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ก็มีข้อดี และข้อเสียอยู่ในตัว
สำหรับธุรกิจที่ต้องใช้เรื่องคุณภาพเข้าแข่ง แต่เขาก็ยังมองว่า มีรถไฟฟ้ายังดีกว่าไม่มี
คุณภาพของโรงหนังต้องดี ระบบโรงและเสียงเป็นแบบดิจิตอล จะมีตั้งแต่ SRD,
DTS, THX จนถึง SDDS (Sony Dynamic Digital Sounds) เท่ากับระบบสากลที่ใช้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ก็เป็นแม่เหล็กอย่างหนึ่งที่ดึงดูดคนมาดูหนัง
การตกแต่งภายใน และจัดผังร้านค้าก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะดึงดูดลูกค้า
วิชาคิดว่าที่ผ่านมาการบริหารของเครืออีจีวีใช้รูปแบบจากต่างประเทศ ทำให้โรงหนังแต่ละโรงในระบบมัลติเพล็กซ์ไม่มีความแตกต่างกันเลย
ไม่ว่าการวางผัง พรม เก้าอี้ ทำให้เกิดความจำเจ เขาต้องสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นทั้งกับคู่แข่ง
หรือแม้แต่โรงหนังภายในเครือเมเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นปิ่นเกล้า กับสุขุมวิท และรัชโยธิน
ก็ต้องต่างกันด้วย
ประสบการณ์การเป็นนักพัฒนาที่ดินของวิชา ช่วยเขาได้มากในการเข้ามาฟื้นสถานการณ์โรงหนังของตระกูล
เขาคิดว่าเขาเป็นนักพัฒนาที่ดิน มากกว่าการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหากไปยึดตรงนั้น
เขาก็คงทำธุรกิจโรงหนังไม่ได้
ข้อดีของการเป็นนักพัฒนาที่ดินก็คือ การศึกษาทำเลที่ตั้งของที่ดินว่ามีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นอะไร
ณ วันนี้ เขาเห็นว่าโรงหนังมีความเหมาะสมที่จะเข้าไปลงทุน และการบริหารโครงการด้วยการเอาร้านค้าเข้ามาเสริมก็เป็นเรื่องของการมองแบบนักพัฒนา
หลักประกันของวิชาที่มีให้ต่อร้านค้าใน ซีนิเพล็กซ์ ก็คือ การที่เครือเมเจอร์ใช้พื้นที่ทำโรงหนังกว่า
60% มากกว่าทุกร้านค้า การลงทุนในโรงภาพยนตร์เป็นแบบระยะยาว อย่างน้อย 30
ปี กว่าจะคืนทุนได้ก็ 5 ปีขึ้นไปเท่ากับเครือเมเจอร์อยู่คู่กับพันธมิตรร้านค้าโดยไม่ได้ทอดทิ้งเหมือนทำธุรกิจพัฒนาที่ดินทั่วไป
หากธุรกิจโรงหนังไปได้ดีก็เชื่อว่าร้านค้าในโรงหนังก็จะไปได้ดีด้วย และสิ่งที่พิสูจน์ความเชื่อใจในเครือเมเจอร์และวิชาก็คือ
ร้านค้าส่วนใหญ่ที่สุขุมวิทก็ตามมาจากที่ปิ่นเกล้า และยังเสนอตัวที่จะไปเปิดในรัชโยธินด้วย
ความหลากหลายด้านสิ่งบันเทิงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่วิชามองเห็น เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อเจรจาตั้งบริษัท
เมเจอร์ โบวล์ จำกัด เพื่อเข้าบริหารลานโบว์ลิ่งขนาด 20 ราง ระบบคอสมิค โบว์ล
ซึ่งใช้ลูกโบว์ลิ่งและลานสะท้อนแสง ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตั้งคู่กับ
PUB ระดับหรูสไตล์ทอรัส บนชั้น 4 วิชาภูมิใจว่า บรรยากาศแบบนี้คงหาไม่ได้ในโรงหนังทั่วไป
เป็นการผสมผสานความบันเทิงที่พร้อมจะดึงคนทุกเพศทุกวัยเข้าไปใช้บริการ
"ผมก็ไม่เชิงดูแลด้านเอนเตอร์เทนเมนต์อย่างเดียว เมเจอร์ซีนิเพล็กซ์เป็นการรวมประสบการณ์ด้านรีเทลล์
บวกกับประสบการณ์ของเรียลเอสเตท เอาประสบการณ์ทั้งสองอย่างมารวมกันก็คงไม่ผิด
คนจะทำซีนิเพล็กซ์ได้คงจะมีความรู้เรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์อย่างเดียวไม่พอ
การออกแบบต้องลงตัวด้วย"
การทำโรงหนังแบบซีนิเพล็กซ์นั้นเป็นเรื่องยาก วิชาคิดว่าอย่างไรเสียเขาก็ยังอยากทำโรงหนังในศูนย์การค้า
แต่ข้อจำกัดที่มากมายทำให้ต้องเลือกแบบแยกออกไปต่างหาก
"ผมอยากทำโรงหนังในศูนย์มันง่ายกว่า เพียงแต่ว่าเราสู้ค่าเช่าศูนย์ไม่ไหว
ก็ไม่เชิงที่ว่าอีจีวียึดพื้นที่หมดแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมีศูนย์ที่มาชวนเรา
ต้องไปดูว่าอีจีวีซักเซสทุกแห่งหรือเปล่าในศูนย์การค้า และต้องมองว่ามีศูนย์อีกหรือเปล่าที่ให้เราเปิด
มี ถ้าถามว่าไม่มีไม่จริง เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีโรงหนังเครืออื่นเข้ามาแล้วเปิดโรงหนังในศูนย์ได้
การเปิดในห้างไม่ใช่ว่าดี นั่นคือสิ่งที่เรามองตั้งแต่เราคิดซีนิเพล็กซ์แล้ว"
การตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับโรงหนัง ทุกวันนี้วิชายอมรับว่าลูกค้าของเขาที่สุขุมวิท
ยังไม่รู้ว่าธุรกิจที่เขาให้บริการอยู่เป็นโรงหนัง บางคนยังเข้าใจว่าเป็นห้างสรรพสินค้า
ซึ่งเขาต้องสร้างแบรนด์เนมให้ติดตลาดและรู้ว่า เมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์ คือ โรงภาพยนตร์
วิชาได้น้องภรรยา อนวัช องค์วาสิฏฐ์ มาทำด้านการตลาดให้ ทุกวันนี้อนวัชช่วยวางแผนและประสานงานกับพันธมิตรในเครือเมเจอร์
ด้วยประสบการณ์ที่เคยทำการตลาดให้ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และแฟชั่นไอส์แลนด์
ส่วนหนึ่งเมเจอร์จะทำร่วมกับพันธมิตร โดยการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับหนังที่จะฉาย
และการใช้พื้นที่เพื่อช่วยโปรโมตหนังและสินค้าในร้านค้าของพันธมิตรร่วมกัน
การทำเมเจอร์ การ์ด รุ่นต่างๆ ที่โปรโมตภาพยนตร์ และกลายเป็นของสะสมที่มีค่า
หรือกิจกรรมที่ลูกค้าภายในเข้ามาใช้สถานที่ของเมเจอร์
อนวัชย้ำถึงรูปแบบของเมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์ที่สร้างสายสัมพันธ์กับพันธมิตร
และความเชื่อมั่นว่า "เราไม่ใช่ศูนย์การค้า และเราไม่ใช่โรงภาพยนตร์อย่างเดียว
เราเป็นเอนเตอร์เทนคอมเพล็กซ์ ทั้งตึกเราบริหารเองหมด เวลาลูกค้าไม่ว่าจะเป็นร้านค้าที่มาอยู่กับเรา
ต้องมีวัตถุประสงค์เหมือนกัน มีทาร์เก็ต กรุ๊ปเหมือนกัน ลูกค้าจะรู้ว่า พีคซีซั่นตอนไหน"
แม้ในปี 2541 นี้ ธุรกิจหลายแห่งยังไม่รู้ชะตากรรมด้านเศรษฐกิจว่าจะออกมาในรูปแบบไหน
แต่โรงภาพยนตร์ในความเชื่อของเมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์ จากคำยืนยันของวิชาก็คือ
ยังคงเติบโต และคงเป็นธุรกิจหนึ่งที่ยังยืนอยู่ได้ แม้ไม่เติบโตอย่างมากก็ตาม
ปีหน้าเขาไม่แน่ใจว่าอัตราเติบโตเป็นเท่าไร ซึ่งอาจจะเหลือ 10% เมื่อเทียบกับ
2540 ที่เติบโต 20% ไม่ถึง 30% ตามที่คาดการณ์ไว้ แต่อีกทางหนึ่งคนที่ว่างงานมากขึ้น
และหาความบันเทิงราคาถูก ก็คงหันมาโรงหนังรูปแบบเอนเตอร์เทนเมนต์ของเขา ซึ่งอาจจะมากกว่า
30% ก็ได้ เขาเองก็อยากให้เป็นอย่างนั้น